xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เผยเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งออกยังติดลบ รอรับผลดีไตรมาส 3 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.ระบุเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวต่อเนื่อง และเศรษฐกิจการเงินเดือนมกราคม ปี 2566 ปรับตัวดีขึ้น ผลจากมาตรการรัฐ การส่งออก นักท่องเที่ยวดีขึ้น ค่าเงินยังผันผวนแต่มีผลกระทบต่อส่งออกและกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อย ส่งออกเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนยังติดลบ รอดูไตรมาส 3 ปีนี้ เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าฟื้นตัว การส่งออกไทยจะดีขึ้นตาม

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2566 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน สำหรับกิจกรรมในภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทย ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอลงบ้าง ด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงทั้งในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้


เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน* ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดจาก 1) หมวดบริการ ตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย 2) หมวดสินค้าคงทน จากการทยอยส่งมอบรถยนต์ตามคำสั่งซื้อในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และ 3) หมวดสินค้าไม่คงทน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนปรับลดลงบ้าง

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อยังคงปรับดีขึ้นจากทั้งการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน* ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับดีขึ้นตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงจากทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง


มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดปิโตรเลียม ตามการกลับมาดำเนินการผลิตหลังจากปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในช่วงก่อนหน้า และหมวดอาหารที่ปรับดีขึ้นตามการผลิตน้ำมันปาล์ม เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดวัสดุก่อสร้างปรับลดลงตามการผลิตคอนกรีต และปูนซีเมนต์

“การส่งออกเมื่อเทียบช่วยเดียวกันปีก่อนอาจจะยังเห็นตัวเลขติดลบอยู่ คาดว่าไตรมาส 3 จึงจะเห็นการส่งออกปรับดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะเรื่มฟื้นตัว ประเทศคู่ค้าไทยฟื้นตัวตามด้วย


จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลปรับลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียที่ลดลงจากผลของมาตรการตรวจ RT-PCR ก่อนกลับจากประเทศไทย ที่บังคับใช้ชั่วคราวในเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นชัดเจนหลังทางการจีนยกเลิกการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวสัญชาติอื่น เช่น มาเลเซีย และยุโรปเพิ่มขึ้นเช่นกัน

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อใช้ในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค


ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ทั้งในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ลดลงตามราคาเนื้อสัตว์ ส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงตามราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ แต่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นเข้าใกล้ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 


สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าที่ขาดดุลตามการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเพิ่มขึ้นตามดุลภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยแข็งค่าขึ้นตามมุมมองที่ดีของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย จากการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาด โดยอัตราแลกเปลี่ยนยังคงมีความผันผวนบ้างจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่มีผลกระทบต่อการส่งออกและกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น