บล.เอเซีย พลัส มองเดือน มี.ค.66 ปัจจัยภายนอกที่นักลงทุนยังให้น้ำหนัก คือ ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่จะประกาศกลางเดือนมีนาคมนี้ รวมถึงแนวทางการรับมือเงินเฟ้อของ Fed หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด
บล.เอเซีย พลัส ออกบทวิเคราะห์กลยุทธ์ลงทุน ระบุว่า เดือน มี.ค.66 ปัจจัยภายนอกที่นักลงทุนยังให้น้ำหนัก คือ ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ (เดือน ก.พ.66) ที่จะประกาศในวันที่ 14 มี.ค.66 รวมถึงแนวทางการรับมือเงินเฟ้อของ Fed หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และยังมีความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวแปรในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินในการประชุม ณ วันที่ 29 มี.ค.66 ปัจจุบันตลาดคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้อีก 0.25% มาอยู่ที่ 5%
ส่วนภาพรวมตลาดหุ้นไทยเดือน มี.ค.ยังคงเผชิญกับ 3 กับดัก คือ 1) เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าที่คาดโดย GDP Growth งวด 4Q65 ของไทยขยายตัวเพียง +1.4%YoY ซึ่งเติบโตค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ +7.6%YoY อินโดนีเซีย +5.3%YoY และ GDP ไทยยังหดตัว -1.5%QoQ ส่งผลให้มูลค่า GDP ไทยพลิกกลับมาต่ำกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 ซึ่งหากติดลบอีก 1 ไตรมาสจะเข้าสู่ภาวะ Technical Recession 2) ตลาดหุ้นไทย รายงานงบ 4Q65 ออกมา 538 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน Market Cap. 92% ลดลง 35%QoQ และ 45%YoY และเป็นการลดลงแรงจาก 13 Sector
โดยเฉพาะ Sector ที่ขาดทุน คือ PETRO, STEEL, ICT, CONS อีกทั้งกำไรยังต่ำกว่าที่ Bloomberg Consensus คาดถึง - 40% นำไปสู่การปรับลดประมาณการกำไรปี 2566 ลงต่อเนื่องในช่วงเดือนนี้ 3) ล่าสุดฝ่ายวิจัย ASPS ปรับลดประมาณการกำไรปี 2566 ลงจาก 1.27 ล้านล้านบาท เป็น 1.12 ล้านล้านบาท และ EPS66F ลดลงจาก 99.2 บาท/หุ้น เหลือ 91.8 บาท/หุ้น เมื่อคูณกับ P/E 17.54 เท่า (ที่คำนวณจาก MEYG 4.2% ภายใต้ดอกเบี้ยนโยบาย 1.5%) ได้ดัชนีเป้าหมายอยู่ที่ 1610 จุด
ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นเชื้อไฟทำให้ต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยหนักในเดือน ก.พ.66 ถึง 1.2 พันล้านเหรียญ หรือ 4.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาค และยังเป็นเดือนที่ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี นับตั้งแต่เดือน เม.ย.63 หรือช่วงเกิด COVID-19 แรกๆ อย่างไรก็ตาม ในเดือน มี.ค.66 เชื่อว่า Fund Flow มีโอกาสชะลอการไหลออกหากมีประเด็นบวกเข้ามาเสริม เช่น ความมีเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง กนง. ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย หรือเลื่อนกำหนดเวลาขึ้นดอกเบี้ย ในวันที่ 29 มี.ค.66 ออกไป รวมถึง Downside ของ SET Index ตามประมาณการใหม่มีจำกัด
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนเดือน มี.ค. ภายใต้ Valuation ตลาดหุ้นไทยที่เริ่มตึงมากขึ้น รวมถึง Fund Flow ชะลอการไหลเข้า การเลือกหุ้นลงทุนจำเป็นจะต้องพิถีพิถันมากขึ้น แนะนำสะสมหุ้นกำไรงวด 4Q65 ผ่านจุดเลวร้าย (Bottom Out) และฟื้นตัวต่อในช่วง 1Q66 อย่าง IVL, BGRIM, BLA, JMT รวมถึงหุ้นอิงการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศ ที่มีกำไรฟื้นตัวต่อเนื่อง CRC, CBG, AP