xs
xsm
sm
md
lg

MPI ม.ค.แตะ 99.8 โตสุดรอบ 10 เดือนจากท่องเที่ยวฟื้น "สศอ." จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงตัวฉุดรั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ม.ค. 66 แตะ 99.83 โต 6.61% จาก ธ.ค. 65 และสูงสุดรอบ 10 เดือนเหตุจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวหนุน แต่หากเทียบกับ ม.ค. 65 หดตัวถึง 4.35% สะท้อนส่งออกเปราะบางหนัก “สศอ.” คาดปี 66 MPI และ GDP อุตฯ โตในระดับเดียวกัน 1.5-2.5% ประเด็นที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง ก.พ.-ก.ค. 66 มี 3 ปัจจัยที่เสี่ยงฉุดรั้งการเติบโต ทั้งดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาน้ำมันผันผวน และภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 99.82 ขยายตัว 6.61% จากเดือน ธ.ค. 65 และเป็นอัตรา MPI ที่สูงสุดรอบ 10 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 65 เนื่องมาจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวฟื้นตัวตาม โดยตลอดปี 2566 สศอ.ได้คาดการณ์ MPI และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวในอัตราเดียวกันคือ 1.5-2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน

“อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ม.ค. 66 อยู่ที่ 62.31% เพิ่มขึ้นจาก ธ.ค. 65 ซึ่งอยู่ที่ 59.65% เนื่องจากอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี เช่น การกลั่นน้ำมัน รถยนต์ จักรยานยนต์ รองเท้า กระเป๋า และเครื่องดื่ม ถึงแม้อุปสงค์ในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่ชะลอ จึงทำให้ MPI ปี 66 สศอ.คาดว่าจะยังคงขยายตัวโดยมีปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยว ประกอบกับจีนเปิดประเทศที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น มาตรการช่วยเหลือจากรัฐ อาทิ ช้อปดีมีคืน รวมถึงปีนี้จะมีการเลือกตั้งที่จะเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายสุริยะกล่าว


นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า MPI เดือน ม.ค. 66 ขยายตัวลดลง 4.35% เมื่อเทียบกับ ม.ค. 65 ที่ MPI อยู่ระดับ 104.36 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเนื่องจากส่งออกไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงนั้น ตัวเลขที่หดตัวสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของการส่งออกจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ชะลอตัว ขณะที่ CapU ม.ค. 66 อยู่ที่ 62.31% ลดลงเทียบกับม.ค. 65 ที่ CapU อยู่ที่ 65.90% ทำให้ สศอ.คาดการณ์ MPI เดือน ก.พ. 66 จะยังคงหดตัวจากความต้องการสินค้าของตลาดโลกที่ลดลงตามทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่จะมีปัจจัยหนุนการท่องเที่ยวที่อาจทำให้ตัวเลขการหดตัวลดต่ำลงจากเดือน ม.ค. 66


“การส่งออกของไทยเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ปลายปี 65 ทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4 เราหดตัวถึง 4.9% ส่งผลให้ทั้งปีขยายตัวเพียง 0.4% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ว่าน่าจะโตได้ 1% โดยจากการทำดัชนีการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของ สศอ.ระยะสั้น มี.ค.-เม.ย. 66 ค่าดัชนียังอยู่ในโซนการส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” นางวรวรณกล่าว

ทั้งนี้ ดัชนีเตือนภัยฯ ของ สศอ.ยังสรุปถึงประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังในช่วงเดือน ก.พ.-ก.ค. 66 ใน 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ภายในและต่างประเทศเปลี่ยนแปลง 2.  ความผันผวนของราคาน้ำมัน ที่ล่าสุดกลุ่มโอเปกพลัสยังคงนโยบายลดการผลิตน้ำมันดิบที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่จะกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง 3.  ภูมิรัฐศาสตร์และการแข่งขันของชาติมหาอำนาจที่ขณะนี้มีท่าทีของสหรัฐฯ และรัสเซียรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อการส่งออก-นำเข้า การลงทุนจากต่างประเทศ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น