รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เลื่อนใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ใหม่ เริ่ม 1 ม.ค. 67 เป็นต้นไป เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิดกระทบเอกชน
วันนี้ (21ก.พ.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ครม.เห็นชอบปรับเปลี่ยนกำหนดเวลาบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ใหม่ ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เป็นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จากเดิมภายในปี 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลให้ภาคเอกชนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาภายในปี 2564 ได้ จึงจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดเวลาบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ออกไป พร้อมกันนี้ ครม.มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการกำหนดแผนเพื่อบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 สำหรับผลิตภัณฑ์รถยนต์ใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะได้เตรียมความพร้อมและวางแผนการผลิตรถยนต์ได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดได้และไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ
การบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป จะทำให้ภาคเอกชนมีความพร้อมในทางปฏิบัติ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมบังคับใช้กฎหมายให้การผลิตรถยนต์ใหม่ต้องเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 และภาคเอกชนหลายรายสามารถผลิตรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 แล้ว โดยบางส่วนอยู่ระหว่างลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ส่วนมาตรการจูงใจนั้น กระทรวงการคลังได้กำหนดให้รถกระบะดีเซลที่มีค่า PM ไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกิโลเมตร (เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5) จะได้ลดภาษีสรรพสามิต นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้ออกประกาศกำหนดคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 รองรับไว้แล้ว
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า มาตรฐานยูโร เป็นมาตรฐานเพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษไอเสียของยานพาหนะในทวีปยุโรป โดยทวีปยุโรปเริ่มกำหนดมาตรฐานยูโร 1 ในปี 2535 ขณะที่ ไทยเริ่มบังคับใช้มาตรฐานยูโร 1 ตั้งแต่ปี 2541 และเพิ่มระดับมาตรฐานจนถึงมาตรฐานยูโร 4 ในปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ มาตรฐานยูโร 5 และยูโร 6 มีความแตกต่างจากมาตรฐานยูโร 4 หลายประการ อาทิ การเพิ่มมาตรฐานการวัดจำนวนอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก (PN) และกำหนดค่ามาตรฐานออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และสารไฮโดรคาร์บอน (HC) (เป็นหนึ่งในสารที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5) ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น เป็นต้น