PPS กางแผนธุรกิจปี 66 ตั้งเป้ารายได้โต 10% ชูกลยุทธ์พัฒนาระบบสารสนเทศเพิ่มประสิทธิภาพงานก่อสร้าง ยื่นขอ ISO 14001 ขานรับภาวะโลกร้อน (Global Warming) สร้างการเติบโตยั่งยืน (Sustainable) มุ่งเน้นให้บริการหลากหลาย สร้างความแตกต่าง ตอบโจทย์ความต้องการอย่างครอบคลุม โชว์ Backlog 570 ล้านบาท พร้อมประมูลงานใหม่เพิ่ม ด้านโครงการ Headland Cape Yamu ปรับแผนการตลาด รับมือการท่องเที่ยวภูเก็ตคึกคัก
ดร.พงศ์ธร ธาราไชย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (PPS) เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจปี 2566 ว่า บริษัทตั้งเป้าหมายผลประกอบการเติบโต 10% โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์พัฒนาระบบสารสนเทศเพิ่มประสิทธิภาพงานก่อสร้าง ขานรับภาวะโลกร้อนสร้างการเติบโตยั่งยืน
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนการดำเนินงาน 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.พัฒนาการบริหารงานก่อสร้าง โดยบริษัทมีแผนนำเทคโนโลยีเข้าไปในขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นระบบ และมีความชัดเจนในกระบวนการทำงานมากขึ้น รวมถึงการอบรมระบบมาตรฐานใหม่ ให้พนักงานมีความเข้าใจ ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.การพัฒนาระบบสารสนเทศ เพิ่มประสิทธิภาพและต่อยอดในงานก่อสร้างของบริษัท รวมถึงวางแผนจำหน่ายและให้บริการด้านซอฟต์แวร์ ภายใต้ชื่อ KANNA เป็นโปรแกรมชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่นสำหรับงานบริหาร และควบคุมโครงการให้แก่ลูกค้าบริษัทอื่นเพื่อสร้างฐานรายได้ประจำ อีกทั้งเตรียมขอมาตรฐานด้าน IT หรือ ISO 20000-1 ที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับบริหารจัดการบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
3.การพัฒนาอย่างยั่งยืนในงานก่อสร้าง วางแผนขอมาตรฐาน ISO 14001 สำหรับบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นองค์กรที่ตรวจวัด Carbon Credit Equivalent ได้ และได้รับการรับรองจากองค์กรบริหารก๊าซเรือนกระจก โดยปีนี้ภาครัฐประกาศให้มีการบังคับใช้นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คาดว่าจะมีบริษัทจำนวนมากที่มองหาที่ปรึกษาเกี่ยวกับลดคาร์บอน ซึ่ง PPS มีความพร้อมในการเป็นที่ปรึกษา จากประสบการณ์ที่บริษัทมีการบันทึกคาร์บอนมาตั้งแต่ปี 2561 และรับรางวัลด้านความยั่งยืน (Sustainability) มาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวโน้มการดำเนินงาน 2566 บริษัทมีโอกาสรับงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น งานกลุ่มสนามบิน กลุ่มงานกรมโยธา งานห้างสรรพสินค้าขนาดเล็ก-ใหญ่ ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ประมาณ 570 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 300 ล้านบาท และเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นเสนองานภาครัฐและเอกชน ซึ่งคาดว่าจะมีโครงการที่ทยอยลงทุนหลายงานตามภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ภาพรวมภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น ทิศทางอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ตขยายตัวเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาฯ ที่มีมูลค่า 50-200 ล้านบาท โดยโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทลักชัวรีวิลล่าในที่ดินแหลมยามู จ.ภูเก็ต (Headland Cape Yamu) อยู่ระหว่างปรับแผนการตลาดเพื่อปิดการขายให้ได้ตามเป้าได้อย่างน้อย 2 หลังในปีนี้ ทั้งนี้ โครงการเฟสแรก จำนวน 8 ยูนิต มูลค่าโครงการรวมกว่า 2,000 ล้านบาท ราคาเริ่มต้น 240 ล้านบาทต่อยูนิต ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 2 หลัง