วันนี้ (6 ก.พ.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกลดภาวะโลกร้อน เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการดำเนินโครงการและมาตรการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ส่งเสริมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้หันมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีตต่างๆ แทนการใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า ซึ่งมีส่วนประกอบของปูนเม็ดในอัตราส่วนที่น้อยกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณทั้งหมด โดยใช้วัสดุอื่นมาผสมทดแทน เช่น หินปูน กากถลุง และ ปอซโซลาน เป็นต้น แต่มีคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการนำไปใช้งานที่ดีเทียบเท่ากับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ อีกทั้งการผลิตยังทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงด้วย หากประมาณการการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 1 ตัน จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.05 ตัน (CO2) เมื่อเทียบกับการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในปริมาณที่เท่ากัน
สำหรับแนวทางการส่งเสริมการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม ขณะนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594-2556 โดยระบุเกณฑ์กำหนดคุณลักษณะด้านต่างๆ และมีการแบ่งชนิดครอบคลุมการใช้งานที่แตกต่างกัน ทั้งการใช้งานทั่วไป งานที่ต้องการแรงอัดต้นสูง งานที่ทนต่อการกัดกร่อนของซัลเฟต และงานโครงสร้างขนาดใหญ่ พร้อมทั้งแก้ไขมาตรฐานให้สามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ในการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีตต่างๆ แล้ว จำนวน 71 มาตรฐาน อาทิ คอนกรีตทนไฟ กระเบื้องซีเมนต์เส้นใยแผ่นลอน ท่อคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อสำเร็จรูป คอนกรีตบล็อกกลวงรับน้ำหนัก และคอนกรีตผสมเสร็จ กระเบื้องคอนกรีตปูพื้น กระเบื้องหินขัดชนิดสองชั้น เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรงหล่อสําเร็จ กระเบื้องซีเมนต์ปูพื้น และคอนกรีตบล็อกประสานปูพื้น เป็นต้น
“ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์คอนกรีตสามารถยื่นขออนุญาตใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นวัตถุดิบในการผลิต และขอรับใบอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. บนผลิตภัณฑ์ ผ่านออนไลน์ในระบบ e-license ของ สมอ. ได้ที่ www.tisi.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง” นางสาวรัชดา กล่าว