กระทรวงพลังงานแจงค่าไฟฟ้าไทยเทียบประเทศเพื่อนบ้านย้ำต้องดูเชื้อเพลิง กรณีเวียดนามถูกเพราะใช้ถ่านหิน แต่ของไทยใช้ก๊าซฯซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาด การันตีคุณภาพการบริการและระบบไฟฟ้า ธนาคารโลกยันไทยถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนหลายเท่าตัวทำให้ดึงดูดการลงทุน
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวเกี่ยวกับอัตราค่าไฟฟ้าของเพื่อนบ้านบางประเทศต่ำกว่าไทยโดยเฉพาะการหยิบยกกรณีเวียดนามมาเปรียบเทียบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่างกันคือเรื่องคุณภาพของการบริการ สัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตโดยเวียดนามนั้นมีสัดส่วนเชื้อเพลิงการผลิตหลักมาจากถ่านหินซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติที่ไทยใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักที่ราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแต่หากพิจารณาในมิติความน่าเชื่อถือและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของไทย ธนาคารโลก (World Bank) ได้สำรวจพบว่าไทยมีดัชนีคุณภาพการบริการไฟฟ้าอยู่ในลำดับต้นๆ และดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนหลายเท่าตัว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพและคุณภาพของระบบไฟฟ้า ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทำได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการตัดสินใจของนักลงทุน
“จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยสื่อของประเทศเวียดนามคาดการณ์ว่าอาจมีการพิจารณาปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และไม่ได้มีการปรับอัตราค่าไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 ทำให้ EVN ที่เป็นรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าประสบภาวะขาดทุนและได้ยื่นขอความเห็นชอบในการปรับค่าไฟฟ้าจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา” นายสมภพกล่าว
นอกจากนี้ อัตราค่าไฟฟ้าแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน มีอัตราค่าไฟฟ้าหลากหลายตามประเภทผู้ใช้ ปริมาณการใช้ และช่วงเวลา โดยภาพรวมเป็นผลมาจากปัจจัยที่ต่างกัน อาทิ เรื่องความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เสถียรภาพของระบบไฟฟ้า และทรัพยากรที่มีในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ตลอดจนทิศทางนโยบายของภาครัฐ รวมไปถึงมิติด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาด และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าตามแผนพลังงานชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ.2065 ซึ่งถือเป็นวาระระดับสากลที่สอดรับกับทิศทางความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกที่มุ่งไปสู่การใช้เชื้อเพลิงสะอาด