พพ.เดินหน้าพร้อมใช้กฎหมาย BEC คุมอาคารใหม่-ดัดแปลงขนาด 2,000 ตร.ม.ขึ้นไปตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2566 ย้ำกระทบต้นทุนน้อย คืนทุนเร็ว คุ้มค่าระยะยาว
นับว่าเป็นกฎหมายสำคัญที่จะช่วยประหยัดพลังงานในภาคอาคารอย่างน้อยร้อยละ10 ลดการใช้ไฟฟ้าได้รวม 13,700 ล้านหน่วย หรือกว่า 47,000 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 6,850 ตัน
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้ริเริ่ม พัฒนา และผลักดันกฎกระทรวงการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ Building Energy Code : BEC เพื่อเป็นมาตรฐานในการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่หรืออาคารดัดแปลง ที่มีการใช้พลังงานสูง ด้วยการกำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์และวิธีการออกแบบอาคาร เพื่อให้อาคารมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 กฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ 2563 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว และคณะกรรมการควบคุมอาคารได้เห็นชอบการนำกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563 มาใช้บังคับกับการควบคุมอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 โดยจะเริ่มใช้บังคับกับอาคารขนาด 5,000 ตร.ม. ขึ้นไปก่อน และจะบังคับใช้กับอาคารขนาด 2,000 ตร.ม. ขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป
โดยจะเริ่มใช้กับอาคารขนาดใหญ่ใน 9 ประเภท ได้แก่ (1) สถานศึกษา (2) สำนักงาน (3) อาคารโรงมหรสพ (4) อาคารห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า (5) อาคารสถานบริการ (6) อาคารชุมนุมคน (7) อาคารโรงแรม (สถานพยาบาล และ (9) อาคารชุด ที่มีพื้นที่ใช้สอยในอาคารรวมกันในหลักเดียวกัน ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป ต้องออกแบบให้มีการใช้พลังงานในแต่ละส่วนที่กำหนดให้เป็นไปตามเกณฑ์การใช้พลังงานตามมาตรฐานขั้นต่ำ โดยให้มีผู้รับรองผลการประเมินด้านพลังงานที่ได้รับการรับรองจาก พพ. เป็นผู้รับรองข้อมูลเพื่อประกอบการยื่นตามขั้นตอนปกติในการขออนุญาตก่อสร้างอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคาร
ดร.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า กฎหมาย BEC จะเป็นประโยชน์และเป็นกลไกสำคัญในการช่วยประหยัดพลังงานในภาคอาคาร โดยอาคารที่ออกแบบผ่านตามมาตรฐาน BEC จะประหยัดพลังงานได้ตั้งแต่ร้อยละ 10 – 20 ขึ้นอยู่กับวิธีการออกแบบอาคารและการเลือกใช้วัสดุที่ช่วยป้องกันความร้อนได้มากหรือน้อยเพียงใด จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มเล็กน้อย เฉลี่ยประมาณ 3 - 5 % และคืนทุนไม่เกิน 3 ปี แต่มีความคุ้มค่าในระยะยาว เนื่องจากอาคารมีอายุการใช้งานนาน 20 - 30 ปี ช่วยลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานที่ลดลง สร้างภาพลักษณ์องค์กรหรือธุรกิจที่ให้ความสำคัญและใส่ใจด้านประหยัดพลังงานและสิ่งแวดล้อม สร้างธุรกิจผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในอาคารเพิ่มขึ้น สร้างโอกาสในการจ้างงานเพิ่มขึ้น ยกระดับมาตรฐานวัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในประเทศ ยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพ และช่วยประเทศลดการนำเข้าพลังงาน ลดการใช้ไฟฟ้าได้รวม 13,700 ล้านหน่วย หรือกว่า 47,000 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 6,850 ตัน
"ตอนนี้ พพ.ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้กฎกระทรวงฯ ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยได้ทำการเปิดศูนย์ BEC Center เพื่อให้คําปรึกษาแนะนํา ,ให้ความรู้แนวทางการออกแบบอาคารตามเกณฑ์มาตรฐาน BEC ให้กับเจ้าของอาคาร ผู้ออกแบบ ผู้ผลิตผู้จำหน่ายวัสดุ/อุปกรณ์ สถาปนิก วิศวกร และผู้ที่สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน รวมกว่า 5,000 คน ,ฝึกอบรมผู้ตรวจรับรองแบบอาคารให้กับวิศวกรและสถาปนิก โดยจะมีผู้สำเร็จหลักสูตรและได้รับการรับรองจาก พพ. จำนวน 1,200 คน ในปี 2566 ,อบรมให้ความรู้ความเข้าใจแนวทางการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารตามเกณฑ์ BEC ให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ปัจจุบันอบรมไปแล้วจำนวนกว่า 3,300 คนทั่วประเทศ ,สร้างเครือข่ายส่งเสริมและสนับสนุนการออกแบบอาคารตามเกณฑ์ BEC ร่วมกับภาคเอกชนและภาครัฐมากกว่า 30 แห่ง , และจะดำเนินการมอบฉลากแบบอาคารอนุรักษพลังงาน (BEC Awards) ให้แก่อาคารที่ผ่านการตรวจการประเมินแบบอาคาร และมีผลประหยัดสูงกว่าเกณฑ์BEC (ร้อยละ 30 ขึ้นไป) ในปี 2566 รวมกว่า 140 อาคาร" ดร.ประเสริฐ กล่าว