ไม่ต้องเป็นที่ถกเถียงกันแล้วว่า ภาคธุรกิจจะต้องมีการขับเคลื่อนดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ในกระบวนการทางธุรกิจหรือไม่ เพราะในปี พ.ศ. นี้ หน่วยงานกำกับดูแลต่างออกกฎเกณฑ์และแนวทางให้กิจการที่อยู่ในกำกับ ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ตามข้อกำหนด ที่มิใช่ภาคสมัครใจอีกต่อไป
แต่ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในวงกว้าง คือ การขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจนั้น ควรจะต้องตอบโจทย์ที่เป็นความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม หรือเป็นความยั่งยืนของกำไรและองค์กรกันแน่
เราคงเคยได้ยินวลีที่ว่า “ธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ในสังคมที่ล้มเหลว” ซึ่งสื่อความถึง หากธุรกิจประกอบการโดยไม่คำนึงถึงการร่วมดูแลสังคมจนปล่อยให้สังคมที่ตนเองประกอบการอยู่ล่มสลาย แม้ธุรกิจจะมีความสามารถในการประกอบการเพียงใด ก็ไม่มีทางจะประสบผลสำเร็จได้ลำพังโดยที่ผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบข้างเดือดร้อนเสียหาย
แน่นอนว่า ในกรณีนี้ ภาคธุรกิจ จำต้องขับเคลื่อนประเด็นด้าน ESG โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม
ทั้งนี้ เรายังคงต้องไม่ละเลยวลีที่ว่า “ธุรกิจไม่สามารถอยู่รอดได้ หากไม่มีกำไร” ซึ่งสื่อความถึง หากธุรกิจยังอ่อนแอหรือไม่เข้มแข็งพอในตัวเอง ก็ไม่สามารถที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นหรือสังคมรอบข้างได้ แม้ธุรกิจจะมีความประสงค์อย่างแรงกล้าในการร่วมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ตนเองประกอบการอยู่ก็ตาม
แน่นอนว่า ในกรณีนี้ ภาคธุรกิจ จำต้องดำเนินงานให้อยู่รอด โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของกำไรและองค์กรก่อน โดยอาจจะมีหรือไม่มีการขับเคลื่อนประเด็นด้าน ESG (แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเป็นขั้นพื้นฐาน)
นั่นหมายความว่า หากกิจการใด สามารถดำเนินงานจนอยู่รอดและมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่งแล้ว ควรจะต้องมีการขับเคลื่อนประเด็นด้าน ESG โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวมบ้างไม่มากก็น้อย
เหตุผลของการขับเคลื่อน ESG ในวันนี้ จึงไม่ใช่เพียงเพื่อทำให้กิจการของเรามีความยั่งยืน (หรือห่วงเฉพาะเรา) แต่เป็นการทำให้สังคม (ซึ่งรวมกิจการในฐานะสมาชิกหนึ่งในสังคม) และสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืนไปพร้อมกัน (ห่วงทั้งผู้คนและผืนโลก) ซึ่งการขับเคลื่อน ESG แบบหลังนี้ จะมีวิธีที่แตกต่างกับแบบแรก
ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าที่มุ่งความยั่งยืนเฉพาะตน อาจเลือกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เพราะเหตุผลเรื่องเสถียรภาพและราคา แต่สำหรับโรงไฟฟ้าที่พิจารณาความยั่งยืนองค์รวม จะเลือกใช้พลังงานทดแทนหรือที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
บริษัทส่งออกแห่งหนึ่ง จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการส่งออกสินค้า เนื่องจากมาตรการเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของประเทศผู้นำเข้า ที่ก่อให้เกิดภาระต้นทุนและกระทบกับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนของกำไรและองค์กรในระยะยาว
ขณะที่บริษัทส่งออกอีกแห่งหนึ่ง มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตตามเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อช่วยจำกัดมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมโดยรวม อีกทั้งยังสามารถขายคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นผลพลอยได้จากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ด้วย
บริษัทที่มีการดูแลบุคลากรโดยมุ่งความยั่งยืนขององค์กร จะคำนึงถึงประสิทธิภาพและต้นทุนการจ้างพนักงานในแต่ละตำแหน่งงาน ตามนโยบายด้าน HR ที่มองบุคลากรในฐานะที่เป็นทรัพยากรหนึ่งของกิจการ
ขณะที่บริษัทที่มีการดูแลบุคลากรโดยมุ่งความยั่งยืนของสังคม (พนักงาน) โดยรวม จะคำนึงถึงประเด็นความหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่ปิดกั้น (Diversity, Equity, and Inclusion: DEI) ที่ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งได้กลายเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีสัดส่วนมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นปัจจัยจูงใจและรักษาบุคลากรที่มีฝีมือและเป็นที่ต้องการให้เข้ามาร่วมงานและอยู่กับองค์กรได้นาน
หวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าใจภาพการขับเคลื่อน ESG โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ที่มีความเข้มแข็งและสามารถสร้างกำไรอย่างสม่ำเสมอแล้ว จะไม่มัวแต่ให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ ในแบบ ‘ห่วงเรา’ เรื่อยไป แต่ควรต้องให้น้ำหนักกับการดำเนินงานทางธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในแบบ ‘ห่วงโลก’ อย่างจริงจัง เพราะ เราไม่มีโลกสำรอง สำหรับใช้แผนสำรอง (There is no Planet B for our Plan B)
บทความ : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์