xs
xsm
sm
md
lg

ปลัดคลังเผยลูกหนี้สมัครใจ กยศ. ชำระคืนลดลง 28% หลังรอความชัดเจนของการแก้กฎหมายใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัดคลังเผยลูกหนี้สมัครใจ กยศ. ชำระคืนลดลง 28% หลังรอความชัดเจนของการแก้กฎหมายใหม่ เชื่อถ้ากฎหมายออกจะกลับมาชำระปกติ

วันนี้ (8 ธ.ค.) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ยอดการชำระหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มีแนวโน้มปรับลดลง หลังจากมีการพิจารณาแก้กฎหมายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ. … ทำให้ผู้ชำระเงินเกิดความลังเล เนื่องจากรอความชัดเจนของกฎหมาย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน-30 พฤจิกายน 2565 พบว่า ยอดการชำระหนี้ในส่วนของผู้ที่สมัครใจลดลงไป 28% เหลือเพียงแค่ 2,075 ล้านบาท ส่วนการชำระหนี้จากการหักเงินเดือนไม่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีความกังวลจากยอดชำระหนี้ที่ลดลง เนื่องจากกฎหมายเริ่มมีความชัดเจนแล้ว โดยผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างรอการบรรจุวาระเข้าสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อีกครั้ง หากเห็นชอบก็สามารถนำมาประกาศบังคับใช้ได้ แต่หากไม่ได้เห็นชอบจะต้องมีการนำเข้าสู่การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา เพื่อหาข้อยุติประเด็นที่มีความเห็นต่างกันอีกครั้ง

นายกฤษฎา กล่าวว่า ทั้งนี้ ปัจจุบัน กยศ. มีเงินกองทุนในระดับสูง เพียงพอต่อการปล่อยกู้ โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐ โดยปัจจุบันมีสภาพคล่องอยู่ 3-4 หมื่นล้านบาท และปีที่ผ่านมาได้มีการชำระคืนเพิ่มขึ้นมาอีก 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการปล่อยกู้ เพราะเฉลี่ยแต่ละปี กยศ. มีการใช้เงินในการปล่อยกู้ 3-4 หมื่นล้านบาท

"เชื่อว่าหากกฎหมายมีความชัดเจน ผู้กู้จะกลับมาชำระได้ปกติ เพราะปัจจุบัน กยศ. คิดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีมาตรการลดดอกเบี้ยปรับ สำหรับผู้กู้ที่มีการชำระหนี้ดี หรือผู้กู้ที่ต้องการปิดยอดหนี้" นายกฤษฎา กล่าว

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กยศ. ได้ให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาไปแล้วจำนวนกว่า 6.4 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีการศึกษามีจำนวนนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมเงินกว่า 6 แสนคน มีสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุนทั่วประเทศกว่า 4,000 แห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น