xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิสภาผ่านร่าง พ.ร.บ. กยศ. เก็บดอกเบี้ย 1%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (6 ธ.ค.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … วาระ 2 และวาระ 3 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. เป็นประธาน กมธ.ฯ พิจารณาแล้วเสร็จ โดยในการพิจารณาของ กมธ.ฯ ได้แก้ไข 8 มาตรา และเพิ่มใหม่ 1 มาตรา ซึ่งเป็นข้อกำหนดให้ กรรมการ กยศ. ดำเนินการให้ผู้กู้ยืมเงินมีงานทำ

อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายของ ส.ว. ในมาตราที่แก้ไข พบการโต้แย้งของ ส.ว. ที่สงวนคำแปรญัตติ จนทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการพักการประชุม เพื่อให้ กมธ.ฯ และ ส.ว. ที่ติดใจ ได้ทำความเข้าใจ ก่อนที่จะนำเสนอเนื้อหาให้ที่ประชุมลงมติ เช่น มาตรา 9 แก้ไข มาตรา 19 ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของกรรมการ กยศ. ซึ่ง กมธ. เสียงข้างมากได้แก้ไข ใน (7) ให้อำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ตามมาตรา 44 วรรคสอง และวรรคสี่ ว่าด้วย การยกเว้นหรือลดหย่อนดอกเบี้ยให้แก่ผู้กู้ยืมเงินที่มีประวัติชำระคืนกองทุนดีต่อเนื่องหรือชำระคืนกองทุน ครบถ้วน รวมถึง การผ่อนพันชำระเงินคืน ลดหย่อนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่

ทั้งนี้ มีประเด็นที่ ส.ว. ต้องการให้เพิ่มความในวรรคแปด ของมาตรา 44 ว่าด้วย การยกเว้นหรือลดหย่อน ค่าปรับผิดนัดชำระหนี้เพื่อให้เกิดความครบถ้วน โดย กมธ.ฯ เสียงข้างมาก ได้ยินยอมตามการสงวนความเห็นของ ส.ว. นอกจากนั้นยังมีข้อความที่ กมธ.ฯ เพิ่มขึ้นใหม่ในมาตราดังกล่าว ว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ให้มีงานทำและชำระเงินคืนกองทุนได้ โดยให้ทำร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และสถานศึกษา ซึ่ง ส.ว. ที่สงวนคำแปรญัตติมองว่ายังไม่ครอบคลุม ทำให้ที่ประชุมต้องพักประชุม 10 นาที ก่อนจะแก้ปัญหาได้ลงตัว และลงมติตามที่มีการแก้ไข

ส่วนประเด็นการเก็บดอกเบี้ยผู้กู้ ยังเป็นประเด็นที่ ส.ว. ถกเถียงกัน โดยมีเสียงสนับสนุนให้กลับไปใช้ร่างที่ ส.ส. เสนอ คือ ไม่มีดอกเบี้ย หรือ ลดอัตราดอกเบี้ยที่ กมธ. เสนอ คือ 1% ต่อปี เป็น 0.25% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ใน ผลการลงมติ พบว่าเสียงข้างมาก 129 เสียง เห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ.ฯ ที่กำหนดให้เก็บดอกเบี้ยผู้กู้ 1% ต่อปี และเพิ่มข้อกำหนด คือ ห้ามคิดดอกเบี้ยทบต้น รวมถึงให้อำนาจกรรมการ กยศ. พิจารณายกเว้นหรือลดหย่อนดอกเบี้ยให้ผู้กู้ที่มีประวัติชำระเงินกู้ดี หรือกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร และมีผู้ไม่เห็นด้วย 3 เสียง และงดออกเสียง 14 เสียง

เมื่อที่ประชุมพิจารณาวาระ 2 เสร็จสิ้น จากนั้นลงมติวาระ 3 เห็นด้วย 143 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง ท้ายที่สุด ที่ประชุมเห็นด้วยกับ กมธ.ฯ แก้ไขเพิ่มเติม และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของ กมธ.ฯ

ขั้นตอนหลังจากนี้ วุฒิสภาต้องส่งร่างกฎหมายกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎร ถ้าที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบกับการแก้ไข นำเข้าสู่ขั้นตอนการทูลเกล้าฯ แต่ถ้าที่ประชุมสภาไม่เห็นด้วยให้ตั้ง กมธ.ร่วมสองสภาตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญนูญ มาตรา 137 ต่อไป