xs
xsm
sm
md
lg

“ครูหยุย” เผยวุฒิฯ ถกร่าง พ.ร.บ.กยศ. 6 ธ.ค. กมธ.ให้คิดดอก-ค่าปรับ เพิ่มอำนาจ กก.ช่วยหากมีเหตุจำเป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.วัลลภ” เผย วุฒิฯ ถกร่างกม.กยศ. 6 ธ.ค. นี้ กมธ.ให้คิดดอกเบี้ย-ค่าปรับ พร้อมเพิ่มอำนาจ กก.กยศ. ลดหย่อน-ช่วยผู้กู้ได้หากมีเหตุจำเป็น

วันนี้ (4 ธ.ค.) นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (พ.ร.บ.กยศ.) วุฒิสภา กล่าวว่า ทาง กมธ. ได้พิจารณาเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.กยศ.​แล้วเสร็จแล้ว และเตรียมให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาในวาระสองและวาระสาม วันที่ 6 ธันวาคม นี้ โดยสาระสำคัญของเนื้อหา คือ ทาง กมธ.เห็นด้วยตามร่างที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอ คือ การตัดในส่วนของการค้ำประกันออก เพราะจากการรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่าเป็นส่วนที่เพิ่มภาระ ขณะที่ประเด็นที่ กมธ. เห็นต่างจากร่างของสภา คือ การตัดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับผิดนัดชำระ ดังนั้นกมธ.วุฒิสภา จึงแก้ไขให้การชำระเงินคืนกองทุนต้องมีกอกเบี้ย ในอัตราไม่เกิน 1% ต่อปี พร้อมกำหนดห้ามคิดดอกเบี้ยทบต้น และเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้กู้ที่มีประวัติชำระเงินคืนดี จึงกำหนดให้ กรรมการพิจารณาลดหย่อนดอกเบี้ยให้แก้ผู้กู้ยืมเงินที่มีประวัติชำระเงินคืนดีต่อเนื่อง หรือชำระคืนกองทุนครบถ้วน หรือกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรอื่นๆ นอกจากนั้นแล้ว ยังกำหนดรายละเอียดของการขยายเวลาปลอดหนี้ จากเดิมกฎหมายกำหนดระยะ 2 ปี กรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรก็ได้

นายวัลลภ กล่าวด้วยว่า สำหรับค่าปรับผิดนัดชำระนั้น กำหนดให้เก็บเงินเพิ่มไม่เกิน 0.5% ต่อปี แต่ได้ให้อำนาจกรรมการพิจารณายกเว้นหรือลดหย่อนตามที่เห็นสมควร นอกจากนั้นแล้วยังกำหนดรายละเอียดของการกำหนดกรอบชำระหนี้จากเดิม 15 ปี ไปเป็นตามหตุจำเป็นและสมควร เพราะจากการรับฟังความเห็นของผู้กู้ กยศ. พบว่า บางรายไม่สามารถหางานทำได้หลังจบการศึกษา และกมธ.เห็นว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์ ยังกำหนดให้ กรรมการ กยศ.​มีหน้าที่และอำนาจที่เพิ่มขึ้นใหม่ คือ การกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินให้มีงานทำและสามารถชำระเงินคืนกองทุนได้ โดยให้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชนและสถานศึกษาที่เข้าร่วม

“ผมกังวลว่าร่างกฎหมายนี้จะเสร็จไม่ทัน จึงพยายามเร่งการทำงาน หลังจากที่วุฒิสภาพิจารณาในวันที่ 6 ธันวาคม หากเห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการ ต้องส่งให้ สภาพิจารณาหากสภาไม่เห็นด้วยกับที่วุฒิสภาแก้ไข จำเป็นต้องตั้งกรรมาธิการร่วมฝ่ายละ 10 คน เพื่อพิจารณาเนื้อหา หากสภาฯจะยืนยันตามร่างที่ผ่านวาระสามในชั้นสภาฯ สามารถทำได้ โดยใช้เสียงโหวตข้างมากในกรรมาธิการร่วม ทั้งนี้ผมเชื่อว่าเนื้อหาที่กรรมาธิการของวุฒิสภาแก้ไขนั้นทำได้ดี เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย หวังว่า สภาจะเห็นด้วย” นายวัลลภ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น