xs
xsm
sm
md
lg

หุ้น HEMP-COMAN...ศพต่อไปจาก MORE / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ หรือเสี่ยม้อ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ออกมาปฏิเสธแล้ว

ยืนยันไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการปล้นโบรกเกอร์ จากคำสั่งซื้อขายหุ้น MORE ช่วงเปิดการซื้อขายหรือ ATO จำนวน 1,531.77 ล้านหุ้น วงเงินประมาณ 4,500ล้านบาท เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

แต่คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ คนในแวดวงตลาดหุ้นเชื่อคำปฏิเสธของเสี่ยม้อเพียงใด

นอกจากนั้น คำสั่งซื้อขายหุ้น MORE ในช่วง ATO ที่พิสดาร ซึ่งสร้างความโกลาหลในตลาดหุ้น และส่งผลกระทบต่อโบรกเกอร์ทั้งระบบอย่างรุนแรง จนอาจเกิดการล้มหายตายจากนั้นได้ลุกลามไปแล้ว โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ MORE และเสี่ยม้อ หรือหุ้นบริษัท เฮลท์ เอ็มไพร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ HEMP

และหุ้นบริษัท โคแมนชี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ COMAN

ราคาหุ้น HEMP ทรุดฮวบลงทันทีที่เปิดการซื้อขายหุ้นในวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน โดยปิดที่ 7.20 บาท และปรับตัวลงไปต่ำสุดที่ 5.50 บาท หรือติดฟลอร์ 30% ก่อนจะมีแรงซื้อลากราคาขึ้นไปปิดที่ 6.50 บาท ลดลง 1.35 บาท หรือลดลง 17.20% มูลค่าการซื้อขาย 22.51 ล้านบาท

ส่วนหุ้น COMAN ปิดที่ 5.35 บาท ลดลง 55 สตางค์ หรือลดลง 9.32% มูลค่าซื้อขาย 3.60 ล้านบาท

HEMP เจอผลกระทบจากความฉาวโฉ่จากความพิสดารคำสั่งซื้อขายหุ้น MORE โดยตรง เพราะ MORE ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งใน HEMP สัดส่วน 36.07% ของทุนจดทะเบียน และมีนายสามารถ ฉั่วศิริพัฒนาหรือเสี่ยฉั่ว ซึ่งถือหุ้น MORE สัดส่วน 4.27% เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 ใน HEMP สัดส่วน 6.54% ของทุนจดทะเบียน

หุ้น HEMP มีประวัติโชกโชนคล้ายกับหุ้น MORE โดยมีการเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง จากเดิมหุ้นบริษัท แมงป่อง จำกัด (มหาชน) หรือ PONG เปลี่ยนมาเป็นเอ็มพีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MPG ก่อนต้นปี 2564 จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นและโครงสร้างการบริหาร โดยเสี่ยม้อเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเดือนพฤษภาคม 2564 เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น HEMP

ราคาหุ้น MPG อยู่ในสภาพตายซากมายาวนาน เช่นเดียวกับหุ้น MORE ก่อนที่เสี่ยม้อ จะเข้าไปซื้อ โดยสิ้นปี 2563 ราคาหุ้น MPG อาการร่อแร่ ปิดที่ 26 สตางค์ แต่ราคาพุ่งขึ้นติดซิลลิ่งอย่างผิดสังเกตหลังเปิดการซื้อขายหลังปีใหม่ 2564 ก่อนการแจ้งข่าวเฮียม้อ จะเข้าถือหุ้นใหญ่

ผลประกอบการ HEMP ไม่แตกต่างจาก MORE โดยผลดำเนินงานปกติขาดทุนต่อเนื่องหลายปี โดยปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 44.78 ล้านบาท ปี 2563 ขาดทุน 28.37 ล้านบาท ปี 2564 ขาดทุน 45.21 ล้านบาท และงวด 6 เดือนแรกปีนี้ขาดทุน 14.40 ล้านบาท

เช่นเดียวกับหุ้น COMAN ซึ่งเสี่ยม้อเข้าไปซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมเมื่อเดือนมกราคมปี 2564 จำนวน 24.62% ของทุนจดทะเบียน โดยมีนายอภิมุข บำรุงวงศ์​ หรือ ”ปิงปอง” ตัวการคำสั่งซื้อขายหุ้น MORE พิสดารตามเข้าไปซื้อหุ้นในสัดส่วนกว่า 12% ของทุนจดทะเบียน

ผลประกอบการ COMAN ไม่แตกต่างจาก MORE และ HEMP เท่าใดนัก เพราะขาดทุนหลายปีติดต่อ แต่ราคาหุ้นไม่ได้ทรุดลงตามผลประกอบการ และบางช่วงเวลาถูกลากขึ้นด้วยซ้ำ

สำหรับหุ้น MORE คงหมดอนาคตไปแล้ว และกลับมาซื้อขายเมื่อไหร่ราคาน่าเป็นห่วง เพราะนักลงทุนรายย่อยอาจเทขายหนีตาย นอกจากนั้น ในวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายนนี้ จะมีหุ้นเพิ่มทุนอีกจำนวนกว่า 345 ล้านหุ้น ซึ่งเกิดจากการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุนสามัญรุ่นที่ 2 หรือวอร์แรนต์ MORE-w2 เข้ามาซื้อขาย และเป็นอีกแรงกดดันหุ้น MORE

HEMP ซึ่งมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนกว่า 2 พันราย และ COMAN ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเกือบ 2 พันราย อยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างจากหุ้น MORE เพราะเป็นหุ้นในกลุ่มเดียวกับเสี่ยม้อ โครงสร้างผลดำเนินงานเหมือนกัน ขาดทุนติดต่อหลายปี มีประวัติโชกโชนคล้ายกัน และเปลี่ยนชื่อเพื่อล้างภาพลักษณ์ในอดีตมาด้วยกัน

MORE ถูกทุบจนไม่มีชิ้นดีไปแล้ว HEMP ในฐานะบริษัทลูก และ COMAN อาจเป็นรายต่อไปที่ถูกทุบจนไม่เหลือซาก










กำลังโหลดความคิดเห็น