xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คึก DELTA อวดกำไร Q3 พุ่งหนุนสดใสยกแผง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สดใส หลัง เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ฯ ฟันกำไรไตรมาส 3 แตะ 4,110 ล้านบาท ส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มสดใสถ้วนหน้า ขณะโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ประเมินหุ้นกลุ่มนี้ต่ำกว่าตลาด มองระยะสั้นภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอทั่วโลกจากปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้เกิดการชะลอคำสั่งซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เมื่อบวกกับกำลังซื้อที่อ่อนแอลงจากตลาดจีน และฐานที่สูงจากช่วงโควิด-19 ทำให้การเติบโตช้าลง เชื่อ DELTA มีศักยภาพพอให้สามารถเติบโตได้ในภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ

ปีที่ผ่านมาหุ้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นดาวรุ่งที่ราคาหุ้นพุ่งสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะบริษัทผู้ผลิตได้อานิสงส์ภาคการผลิตกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า แต่ความตึงเครียดจากภาวะสงครามในยูเครน ทำให้กระทบต่อหุ้นกลุ่มนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และแล้วเมื่อจีนประกาศล็อกดาวน์เมืองใหญ่ สกัดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิด ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดผลกระทบความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ตามมา

ล่าสุด คือสหรัฐฯ ออกมาตรการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีไปยังจีน จากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะการสั่งระงับส่งออกชิป ที่มีจุดมุ่งหมาย คือการชะลอการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในจีน ทั้งยังต้องการจำกัดการเข้าถึงของบริษัทจีนในเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ระดับสูง

แม้ว่าการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ส่วนใหญ่จะเป็นฮาร์ดดิสก์ และฮาร์ดดิสก์ ซึ่งไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในข่ายที่สหรัฐฯ บอกสั่งห้าม นั่นคือผลิตชิปชั้นสูง อย่างไรก็ดีไทยได้รับผลกระทบคือเรื่องของ Digital Transformation เพราะเทคโนโลยีในการผลิต ขณะนี้ถูกเทคโนโลยีใหม่เข้ามา ถ้าในอนาคตโลกเปลี่ยนฐานการผลิต ซึ่งนั่นจะทำให้ไทยได้รับผลกระทบรุนแรง แม้กระนั้นช่วงแรก ๆ ราคาหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึมรับผลการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นของสหรัฐฯ ไปแล้ว แต่ความกังวลต่อปัจจัยอื่นรอบด้าน ทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ยังอึมครึม

ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยตัวเลขของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยเดือน ก.ย. ปีนี้พบว่ามียอดขายรถยนต์ทั้งสิ้น 74,150 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 15.64% รวมทั้งการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ออกขายเพิ่มจากเดือน ส.ค. 2565 ถึง 8.71% ส่วนยอดผลิตมีทั้งสิ้น 179,237 คัน สูงสุดในรอบ 9 เดือน ซึ่งสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 27.99% และเพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. 2565 กว่า 4.37% เพราะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกถึง 106,190 คันหรือเท่ากับ 59.25% ของยอดผลิตทั้งหมด จากการได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น ในส่วนของรถยนต์บางรุ่นที่ผลิตเพื่อส่งออกโดยเฉพาะรถกระบะและรถ PPV


DELTA โกยกำไร 4.1 พันล้านบาท ดึงทั้งกลุ่มสดใส

ทั้งนี้ ราคาหุ้น 3 ตัวหลักของกลุ่มเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พบว่า บวกถ้วนหน้า ทั้งบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA และ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE โดย DELTA ปิดที่ 666.00 บาท เพิ่มขึ้น 40.00 บาท หรือ 6.39% ส่วน HANA ปิดที่ 34.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาทหรือ 0.74% และKCE ปิดที่ 43.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.00 บาท หรือ 2.38% และเมื่อมองภาพรวมทั้งกลุ่มพบว่าราคาหุ้นบวกยกแผงทั้งกลุ่มเรียกได้ว่ายกแผง (ดูตาราง)

โดย DELTA ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ออกมาพบว่า มีกำไรสุทธิ 4,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 1,191.26 ล้านบาท ขณะงวด 9 เดือนแรกปีนี้ทำได้ 11,153.59 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่ทำไว้ 4,603.42 ล้านบาท

สำหรับ กำไรจากการดำเนินงานไตรมาสนี้ DELTA ทำได้ถึง 3,774ล้านบาท เติบโตสูงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพราะบันทึกผลขาดทุนสำหรับค่าเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จงวดดังกล่าว 393 ล้านบาท อีกทั้งมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 215 ล้านบาทในไตรมาสนี้ โดยยอดขายยอดขายสินค้าและบริการในไตรมาสนี้อยู่ที่ 31,324ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนงานเพาเวอร์อิเลคโทรนิคส์ยงัคงเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มความต้องการของลูกค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ Data Center, Server & Cloud Storageโดยเฉพาะเพาเวอร์ซัพพลายที่มีการออกแบบเฉพาะ (Custom Design Power) รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์อีเลคโทรนิคส์กำลังไฟฟ้าที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า(Electric Vehicle Power) กลุ่มโซลูชั่นพัดลม และระบบ จัดการความ ร้อน (Fan & Thermal ManagementSolution) กลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบอัตโนมัติสำหรับภาคอุตสาหกรรม (Industrial Automation) รวมถึงระบบอัตโนมัติสำหรับอาคาร (Building Automation)

ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์โครงสร้างพื้นฐาน ยอดขายเติบโตจากปีก่อนหน้าแต่ชะลอตัวลงจากฐานสูงในไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากดีมานด์โซลูชั่นด้านการสื่อสารและระบบเครือข่ายโทรคมนาคมมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในตลาดยุโรป

สำหรับกำไรขั้นต้นไตรมาสนี้ DELTA ทำได้ 7,298 ล้านบาท คิดเป็น 23.3 % ของยอดขาย เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากอัตรา 19.2 % ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งบริษัทฯ ประสบเหตุการณ์น้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อคลังจัดเก็บของแห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทฯ บริหารสถานการณ์ได้เป็นอย่างดีพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนจากการเติบโตของรายได้อย่างก้าวกระโดดปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์พาวเวอร์ซัพพลาย ส่วนดาต้าเซ็นเตอร์และยานยนต์ไฟฟ้าที่มีอัตรากำไรปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับยอดขาย ขณะอัตรากำไรของกลุ่มผลิตภัณฑ์โครงสร้างพื้นฐานปรับตัวลดลงสอดคล้องกับรายได้และรูปแบบโครงการ เพราะบริษัท ฯ วางกลยุทธ์เสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้ระบบ Smart Manufacturing และเร่งแผนการขยายกำลังการผลิตโดยการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มผลิตภัณฑ์มีการเติบโตสูง คาดเสร็จกลางปี2566

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร(รวมการวิจัยและพัฒนา) มี 3,524ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 11.8 % จากไตรมาสก่อน โดยค่าใช้จ่ายด้านการขายปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับรายได้พร้อมกับกิจกรรมด้านการวิจัยพัฒนาเพิ่ม เพื่อขยายขีดความสามารถในการแข่งขัน

บล.หยวนต้าฯ ให้น้ำหนักน้อยกว่าตลาด 

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินหุ้นกลุ่ม ELECTRONICS พร้อมให้คำแนะนำ "Underweight หรือ น้อยกว่าตลาด” พร้อมปรับลดประมาณการปี2566 ของหุ้นในกลุ่ม หลักๆ จากการปรับลดสมมติฐานการเติบโตของยอดขายลงเพื่อให้สะท้อนผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว ยกเว้น DELTA ที่เราปรับการเติบโตของยอดขายขึ้น เนื่องจากเราประเมินว่าสินค้ากลุ่ม Data Center และ EV ของ DELTA มีศักยภาพพอให้สามารถเติบโตได้ในภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนแอ

โดยมองภาพระยะ 3-5 ปีของอุตสาหกรรมสดใสหนุนจากการเติบโตของนวัตกรรม EV Car, Data Center, Internet of Things และAutomation ซึ่งล้วนแต่ต้องพึ่งพาสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ดี ภาพระยะสั้นภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอทั่วโลกจากปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้เกิดการชะลอคำสั่งซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เมื่อบวกกับกำลังซื้อที่อ่อนแอลงจากตลาดจีน และฐานที่สูงจากช่วงโควิด-19 ทำให้การเติบโตชะลอตัวลง คาดราว 12-18 เดือน ซึ่งเราคาดว่าผ่านมาแล้วครึ่งทาง และยังคงน้ำหนักการลงทุน “น้อยกว่าตลาด” แม้ราคาหุ้นในกลุ่มปัจจุบันอยู่ในระดับที่ไม่แพง ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตแล้ว แต่หุ้นยังเผชิญความเสี่ยงมหภาคกดดันให้ตลาดปรับลดประมาณการอีกราว 1-2 ไตรมาส ยังไม่ถึงรอบของการกลับตัว

บล.ดาโอ มุมมอง “ลบ”


บล.ดาโอ(ประเทศไทย)  มีมุมมองเป็น "ลบ" ต่อหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย จากกรณีทางการสหรัฐฯได้ออกข้อจำกัดการส่งออกชิ้นส่วนเซมิคอนดัคเตอร์ และเครื่องมือผลิตชิป (chip) ให้กับบริษัทสัญชาติจีน ทำให้บริษัทในสหรัฐฯ อย่าง KLA Corp, Research Corp, Applied Materials Inc (ซัพพลายเออร์สำหรับอุปกรณ์ผลิตชิป) ถูกสั่งให้หยุดส่งสินค้าให้กับบริษัทสัญชาติจีน

ดังนั้น เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเกิดจากความเสี่ยงจากการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นของทางการสหรัฐต่อบริษัทในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ในจีน จะทำให้ความเสี่ยงจากประเด็น Chip shortage ยืดเยื้อออกไปจากเดิม จึงเป็นความเสี่ยงต่อคำสั่งซื้อในอนาคตของในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยหุ้นที่จะได้รับผลกระทบคือ HANA (ถือ/เป้า 47.00 บาท) และ KCE (ถือ/เป้า 58.00 บาท) มีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าในจีนที่ 20% และ 11% ของยอดขาย ตามลำดับ โดยคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไว้ที่ "เท่ากับตลาด"

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ขายสินค้าไอที (IT) ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบจากยอดขายในอนาคตที่จะลดลง โดยเฉพาะบริษัทที่มีสัดส่วนขายแบรนด์ของจีน ซึ่ง บล. ดาโอฯ ประเมินผลกระทบต่อผู้ขายสินค้าไอทีเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ SIS, SYNEX, และ COM7 ทั้งนี้กลุ่ม IT seller คงน้ำหนักการลงทุน "ต่ำกว่าตลาด" หุ้น Top-pick คือ SYNEX (ซื้อ/เป้า 25.00 บาท)

ขณะเดียวกันในส่วนของ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ บล.ดาโอ ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน ในการผลิตรถยนต์บางรุ่นในไทยได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันค่ายรถยนต์สามารถปรับแผนหันไปใช้โรงงานผลิตจากแหล่งอื่นได้ รวมถึงการใช้ชิปที่มีขนาดใหญ่ขึ้นซึ่งมีผู้ผลิตได้หลายรายในโลกมากขึ้น ทำให้ผลกระทบอาจไม่มากเหมือนในอดีต คงน้ำหนักการลงทุนเป็น "เท่ากับตลาด" โดยหุ้น Top-pick ได้แก่ SAT (ซื้อ/เป้า 24.50 บาท)

สำหรับ หุ้น SAT บล. ดาโอ แนะนำ "เพิ่มน้ำหนัก" เข้าลงทุนในหุ้น SAT หรือ บริษัท สมบูรณ์แอ๊ดวานซ์เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT โดยกำไรไตรมาส 3 ปี 65 คาดอยู่ที่ 235 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เทียบปีก่อน และเพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อน) ตามภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดผลิตรถยนต์วงเดือน ก.ค.-ส.ค.22 เติบโตได้ดี 39% เทียบปีก่อน ขณะที่เดือน ก.ย.22 ยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง จึงประเมินรายได้ ไตรมาส 3 ปีนี้ที่ 2.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อน ขณะที่ GPM ลดลงจากไตรมาส 3 ปีก่อน จากต้นทุนเหล็กที่สูงขึ้น ช่วงไตรมาส 4 ปี 65 คาดกำไรจะเติบโตต่อเนื่องทั้งเทียบปีก่อนและไตรมาสก่อน จากแนวโน้มคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่เพิ่มขึ้น ตามยอดผลิตรถยนต์ที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ ยอดผลิตรถยนต์ 8 เดือนปี 65 อยู่ที่ 1.2 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน ดังนั้นปี 65 คาดกำไรอยู่ที่ 950 ล้านบาท แนะนำ "ซื้อ" เป้าหมาย 24.50 บาท


บล.เคจีไอฯให้เทียบเท่าตลาด

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ บล.เคจีไอ ฯ ประเมินหุ้นElectronics Sector และให้คำแนะนำ "Neutral หรือเท่ากับตลาด " พร้อมประมาณการกำไรไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนแต่ลดลงจากไตรมาสก่อน คาดกำไรจากธุรกิจหลักรวมในไตรมาส 3 ของบริษัทในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ศึกษาอยู่ (DeltaElectronics (Thailand) (DELTA.BK/DELTA TB)*, Hana Microelectronics (HANA.BK/HANA TB)*, KCE Electronics (KCE.BK/KCE TB)* และ SVI (SVI.BK/SVI TB)) จะอยู่ที่ 5.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 71 จากปีก่อนแต่ลดลง 5% จากไตรมาสก่อน ซึ่งจะทำให้กำไรจากธุรกิจรวมในงวด 9 เดือนปี 65 อยู่ที่ 1.39 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 66% จากปีก่อน จากยอดขายจะคาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งถึง 21% เทียบปีก่อน บล.เคจีไอ ฯ คาดว่ากาไรของ DELTA จะโตแรงสุดเทียบปีก่อน ถึง 194% จากยอดขายที่คาดว่าจะโต 38% (เพราะมีการกลับมาเปิดดำเนินการหลังน้ำท่วมในไตรมาส 3 ปี 64) และอัตรากำไรของต้นทุนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น .9ppts เทียบปีก่อน ขณะเดียวกัน คาดว่ากำไรของ SVI จะโตแรงสุดเทียบไตรมาสก่อนที่ 21% เนื่องจากคาดวายอดขายจะเพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อน (จาก backlog ที่แข็งแกร่ง) และอัตรากำไรขึ้นต้นจะเพิ่มขึ้น 0.5ppt เทียบไตรมาสก่อน จากการอ่อนค่าของเงินบาท

โดยวัฏจักรขาขึ้นของอุตสาหกรรมอาจจะจบรอบแล้วและความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจอาจจะทำให้ยอดขายของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ไทยอ่อนแอ ซึ่งวัฏจักรขาขึ้นของอุตสาหกรรมมีโอกาสจะจบรอบไปแล้วหลังจากที่ยอดขาย semiconductor โลกขยับขยับขึ้นมาแล้วถึง 37 เดือน (จากเมษายน 2562 - พฤษภาคม 2565) ซึ่งยาวกว่าขาขึ้นรอบก่อน ๆ ที่กินเวลาประมาณ 30 เดือน ซึ่งเมื่ออิงจากข้อมูลในอดีต ยอดขาย semiconductor โลกจะลดลง 15% โดยเฉลี่ย ยกเวนในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐ ที่ลดลงไปถึง 39% ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2550 และกุมภาพันธ์ 2552

ทั้งนี้ ยอดขายของอิเล็กทรอนิกส์มีโอกาสจะขยับไปใน ทิศทางเดียวกับยอดขาย semiconductor โลก โดยยอดขายของ DELTA มักจะฟื้นตัวได้ ที่สุด ดังนั้น จากการที่ยอดขายของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ไทยมีสหสัมพันธ์กับยอด ขาย semiconductor โลกประมาณ 0.8 ขณะที่วัฏจักรขาขึ้น ของอุตสาหกรรมอาจจะจบรอบแล้ว และยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป จึงน่าจะทำให้ยอดขายลดลง

ดังนั้น บล.เคจีไอ ฯ จึง ปรับลดสมมติฐานยอดขายของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยลง 3-13% เพื่อสะทอนถึง ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยปรับลดยอดขายของ KCE ลงมากที่สุดในกลุ่ม เพราะมีธุรกิจที่เกี่ยวของกับยุโรปค่อนข้างสูง (50% ของยอดขายรวม) ในขณะที่สินค้าเป็นสินคาประเภทที่มีราคาแพงและอ่อนไหวกับภาวะเศรษฐกิจ (กลุ่มยานยนต์ คิดเป็น 70% ของรายได้รวม ) จึงปรับลดประมาณการกำไรจากธุรกิจหลักในปี 2566 ลง 4% - 19% ซึ่งหมายความว่าประมาณการกำไรจากธุรกิจหลักปี 2566 ของ KCE จะหดตัว 3% และของ HANA จะหดตัว 2% ขณะที่ของ SVI จะโต 3% และของ DELTA จะโต 10%

กำหนด PER แบบมี premium/ discount เพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานของแต่ละบริษัท บล.เคจีไอ ฯ กำหนด PER แบบมี premium (+0.5 S.D.) สำหรับ หุ้น DELTA เพื่อสะทอนถึงผลการดำเนินงานที่ปรับตัวได้ ขณะที่กำหนด PER -0.25 S.D. สาหรับ หุ้น KCE และ HANA เพื่อสะท้อนถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและกำหนด PER -0.5 S.D. สำหรับหุ้น SVI เพื่อสะทอนถึงพอร์ต ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยุโรป (ประมาณ 70% ของรายได้รวม ) และอัตรากำไรที่ด้อยกว่าหุ้นอื่นในกลุ่ม จึงยังคงน้ำหนักหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ "เท่ากับตลาด " โดยแนะนำ "ถือ" สำหรับหุ้นทุกตัวในกลุ่ม ที่ บล.เคจีไอ ฯ ศึกษาอยู่และแนะนำให้นักลงทุนรอดูสถานการณ์ไปก่อน

สำหรับ หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ช่วงนี้เรียกได้ว่าคงจะฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง จากค่าเงินบาทอ่อนค่า ถือเป็นบวกกับหุ้นกลุ่มนี้ อีกทั้งราคาหุ้นกลุ่มนี้ช่วงที่ผ่านมาก็ปรับตัวลงไปค่อนข้างมาก ทำให้ปัจจุบัน Valuation น่าสนใจมากขึ้น และนั่นคงทำให้นักลงทุนหันกลับมาสนใจหุ้นกลุ่มนี้มากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น