เวทีสัมมนา OIE Forum 2022 กระทรวงอุตสาหกรรมดึงทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย ดึงนวัตกรรม ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมรองรับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้าง ศก. สังคม และสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกล่าวในงานประจำปี OIE FORUM 2022 “Disruptive Change is the New Chance วิกฤตพลิก โอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมไทย” จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า สถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ การขับเคลื่อนในระยะต่อไปจึงมอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเร่งดำเนินนโยบายที่สำคัญคือการนำนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมเพื่อยกระดับภาคเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะและอุตสาหกรรมก้าวสู่ 4.0 เพื่อความยั่งยืนทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
“เราต้องสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภาคเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาการแปรรูปสินค้าเกษตรและยกระดับไปสู่ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมเกษตรแปรรูป นำ Internet of Things (IoT) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการการผลิต การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมชีวภาพ แปรรูปอาหาร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การแพทย์ครบวงจร ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) การพัฒนาผู้ประกอบการและภาคการผลิตไปสู่ 4.0 ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นต้น” นายวันชัยกล่าว
นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้ปรับตัวรองรับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าในปี 2566 น่าจะได้เห็นการขยายการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศหลังโควิด-19 คลี่คลาย เช่น กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน เช่น รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงยางล้อ กลุ่มเครื่องมือแพทย์ ที่ยังมีความต้องการต่อเนื่อง กลุ่มปิโตรเคมี เป็นต้น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปีนี้จะโตได้ 2.75% ถึง 3.5% เนื่องจากได้รับผลบวกจากการท่องเที่ยวที่จะมีมากขึ้น แต่ก็ยังคงต้องติดตามเศรษฐกิจโลกใกล้ชิดว่าอาจจะเกิดการถดถอยที่จะบั่นทอนในช่วงที่เหลือได้
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคการผลิตและอุตสาหกรรมได้ปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง แต่หลายเรื่องก็เป็นปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้ต้นทุนพลังงานและการผลิตต่างๆ สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ไทยเองหากเทียบคู่แข่งกับเวียดนามยังคงสูงกว่า ซึ่งเหล่านี้ล้วนบั่นทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะต่อไป