xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นถ่านหินสดใสรับการใช้ผลิตไฟฟ้า ปัญหารัสเซีย-นโยบาย Zero Covid จีนหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นพลังงานต้นน้ำและโรงกลั่นโดดเด่น หลายบริษัททำสถิติสูงสุดใหม่รายไตรมาส ส่งผลกำไรครึ่งแรกของปี 65 ออกมาดี เหตุแรงหนุนจากราคาขายได้ และประโยชน์จากความขัดแย้งของรัสเซีย อีกทั้งวิกฤตพลังงานใน EU แทรกแซงตลาดพลังงานเพื่อความคุ้มค่าไฟที่สูงขึ้น ขณะปิโตรเคมีถูกกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบ, การแพร่ระบาด – นโยบาย Zero Covid ของ นักวิเคราะห์ประเมิน อุปสงค์ถ่านหินพุ่ง เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ยก BANPU เด่นสุด ตามด้วย LANNA และ AGE ส่วนกลุ่ม ปตท. แนะให้ถือรับปันผล

จากผลการสำรวจของสถานบันต่างๆ เช่น สถาบันพลังงานระหว่างประเทศ ได้มีการบันทึกข้อมูลการใชัพลังงานของโลกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมได้จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาแนวโน้มการใชัพลังงานของโลกและการวางแผนการใช้พลังงานในอนาคต ซึ่งพบว่าการใช้พลังงานฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดใน พ.ศ. 2543 - 2551 และเดือนตุลาคม 2555 สถาบันพลังงานระหว่างประเทศ พบว่าการใช้พลังงานถ่านหินมีครึ่งในพลังงานที่ใช้กันทั้งโลก แต่การใช้พลังงานหมุนเวียนในปัจจุบันพบว่ามีการใช้มากขึ้น

ปัจจุบันพบว่าต้นทุนด้านพลังงานเพิ่มสูง ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นและที่เห็นชัดมากในขณะนี้คือมาตรการกีดกันทางการค้าที่เกิดจากการปล่อยคาร์บอน ซึ่งหากในปี 2593 ถ้าต้องการมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ดังนั้น การหาพลังงานหมุนเวียน และเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจึงมีมากขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ชาติตะวันตก รวมถึงการเกิดโรคระบาด ขณะเดียวกัน EU ตกลงจะลดการใช้ก๊าซฯ 15% ดังนั้น มาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจึงกระทบกับการใช้พลังงาน และบางเหตุการณ์ ทำให้เกิดผลดีและผลลบแตกต่างต่อผู้ประกอบการทั้งในและนอกบ้าน แน่นอนว่าบริษัทผลิตพลังงานต่าง ๆ ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินไว้ไม่แตกต่างกันนัก สำหรับการมองหุ้นในกลุ่ม ENERGY & PETROCHEMICAL ให้น้ำหนัก POSITIVE และ "Neutral โดยมองว่าผู้ผลิตพลังงานต้นน้ำ ย้ำโรงกลั่นจะโดดเด่น และเห็นพ้องถ่านหินรวมทั้งน้ำมันดีเซลเป็นที่ต้องการต่อเนื่อง จึงยกให้ บริษัท บ้านปู จำกัด(มหาชน) หรือ BANPU และ AGE เด่นสุด รวมถึง LANNA หรือ บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และ AGE หรือ บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) ส่วนกลุ่ม ปตท. ให้ถือรอรับปันผล

พลังงานต้นน้ำถ่านหิน - ก๊าซธรรมชาติสดใส

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) หรือ บล.หยวนต้า ฯ  มองหุ้นกลุ่ม ENERGY & PETROCHEMICAL ด้วยคำแนะนำ "Neutral" คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 65 รวม 13.6 หมื่นล้านบาท เติบโตโดดเด่น 42% จากไตรมาสก่อน และ 41% จากปีก่อน นับเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนหรือ ติดต่อกัน 7 ไตรมาส ขณะที่ผลประกอบการของหุ้นพลังงานต้นน้ำ และโรงกลั่นจะโดดเด่น หลายบริษัททำสถิติสูงสุดใหม่รายไตรมาส หนุนจากราคาขายได้ประโยชน์จากความขัดแย้งของรัสเซีย

ทั้งนี้ หุ้นปิโตรเคมีจะถูกกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบ, การแพร่ระบาด – นโยบาย Zero Covid ของจีน และกำลังผลิตใหม่เข้าสู่ตลาด ซึ่งแนวโน้มกำไรครึ่งแรกของปี 65 ที่จะออกมาดีโดยเฉพาะกลุ่มพลังงานต้นน้ำ – โรงกลั่น ทำให้คาดว่าหุ้นดังกล่าวจะมีความน่าสนใจจากเงินปันผลงวดงวดครึ่งปีแรกสูงเฉลี่ย 3%

ขณะงบไตรมาส 2 ปีนี้ อาจเป็นจุดสูงสุดของปีโดยราคาพลังงาน 3QTD โดยเฉพาะน้ำมัน เพราะค่าการกลั่นเริ่มลดลง ทำให้ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ของโรงกลั่นจะลดลงเทียบไตรมาสก่อน และมีความเสี่ยงขาดทุนสต๊อก อย่างไรก็ตาม คาดกลุ่มต้นน้ำจะยังรักษาฐานกำไรที่ดีไว้ได้เพราะ Lag-time ของราคาขาย และไม่มีขาดทุนสต๊อก ส่งผลให้หุ้นพลังงานต้นน้ำน่าสนใจที่สุดในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยผู้ผลิตถ่านหิน - ก๊าซธรรมชาติจะดูดีกว่าผู้ผลิตน้ำมัน เพราะได้ประโยชน์จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ชาติตะวันตกมากกว่า และโอกาสถูกแทรกแซงจากการนโยบายประชานิยมต่ำกว่า จึงเลือก BANPU เป็นหุ้นเด่นเพราะมี Portfolio ธุรกิจหลักเป็นถ่านหิน –ก๊าซธรรมชาติส่วน ครึ่งหลังปี 2565 จะควบรวม XTO Energy และมีการปรับสัญญาราคาถ่านหิน

อุปสงค์ถ่านหิน และน้ำมันดีเซลแกร่ง

บล.กรุงศรี แนะนำ "POSITIVE" หุ้น กลุ่ม ENERGY SECTOR หลังพบ วิกฤตพลังงานใน EU เพราะ EU มีแผนแทรกแซงตลาดพลังงานเพื่อคุมค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้น โดยจะชักส่วนแบ่งกำไรส่วนเกิน และกำหนดเพดานราคาก๊าซ อาจทำให้แยกการกำหนดราคาไฟฟ้าออกจากราคาก๊าซ และใช้แหล่งพลังงานอื่นที่มีราคาถูกกว่าแทน คาดว่าวิกฤติพลังงานใน EU จะช่วยหนุนถ่านหิน และน้ำมันดีเซลในฐานะเชื้อเพลิงที่ใช้แทนน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้า รัฐบาลจะเข้าแทรกแซงก่อนวิกฤติพลังงานในฤดูหนาว EU มีแผนจะแทรกแซงตลาดพลังงานเพื่อคุมราคาที่พุ่งสูงขึ้น โดยจะมีการชักส่วนแบ่งกำไรส่วนเกิน และกำหนดเพดานราคาก๊าซ ซึ่งในระบบพลังงานของ EU ราคาขายส่งไฟฟ้ากำหนดจากโรงไฟฟ้าแห่งสุดท้ายมีความต้องมีเพื่อตอบสนองอุปสงค์โดยรวม

โดยโรงไฟฟ้าพลังงานลม นิวเคลียร์ ถ่านหิน และก๊าซ ต่างยื่นประมูลเข้ามา ในตลาดพลังงาน โดยโรงไฟฟ้าที่ยื่นราคาต่ำสุดจะได้รับจัดสรรก่อน จากนั้นจึงจะ เป็นแหล่งพลังงานที่แพงขึ้น อย่างเช่น ก๊าซ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง มักจะเป็นโรงที่กำหนดราคาไฟฟ้าในระบบนี้ ซึ่งตามแนวคิดนี้ ผู้ผลิตไฟฟ้าทุกรายจะ ขายไฟที่ราคาเดียวกัน ดังนั้น ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำกว่าจะมี อัตรากำไรสูงกว่า โครงสร้างดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการลงทุนใน โครงการโรงฟ้าพลังงานหมุนเวียนในยุโรปเพิ่มขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดภาวะ โลกร้อน ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่ในช่วง 15-25% ขึ้นกับต้นทุนของเทคโนโลยี

นอกจากนี้ EU กำลังพิจารณามาตรการแยกราคาค่าไฟฟ้าออกจากราคาก๊าซ เพื่อนำแหล่งพลังงานอื่นที่มีราคาถูกกว่ามาใช้แทน ซึ่งตามแนวทางที่ร่างขึ้นมาแนะนำให้ประเทศสมาชิกของ EU ชักส่วนแบ่งกำไรที่พุ่งสูงขึ้นของบริษัทไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ก๊าซ เพื่อช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้บริโภค โดยจะมีการกำหนดเพดานราคาสูงสุดของผู้ผลิตไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง และโยกกำไรส่วนเกินที่เหนือกว่าระดับนั้น ซึ่งเป็นระบบที่คล้ายๆ กับการเก็บภาษี windfall tax ทั้งนี้ผู้นำ EU ให้สัญญาว่าการ แทรกแซงจะเป็นการดำเนินการในระยะสั้นเท่านั้น และประกาศว่าจะทำการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในระยะยาวประมาณช่วงปีใหม่ ทั้งนี้รัฐมนตรีพลังงานของประเทศในกลุ่ม EU จะหารือข้อเสนอดังกล่าวในเดือนกันยายนนี้ ขณะที่สเปนและโปรตุเกส กำหนดเพดานราคามาตั้งแต่เดือนมิถุนายนแล้วทั้งสองประเทศเห็นด้วยกับคณะกรรมการเมื่อเดือน เม.ย.ให้กำหนดเพดานราคาก๊าซ ธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้า เป็นการแยกราคาไฟฟ้าออกจากราคาก๊าซ เริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน และจะมีผลไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2566 โดยเพดานราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 48.80 ยูโรต่อ/MWh

บล.กรุงศรี ยังคงสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2565-2566 เอาไว้เท่าเดิมที่ US$100/90 และคาดว่าอุปสงค์ถ่านหิน และน้ำมันดีเซลจะยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง ไปตลอดหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง 

ราคาถ่านหินทรงตัว ก๊าซฯ แนวโน้มลด 

บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แนะนำ "NEUTRAL" หุ้นกลุ่ม Energy & Petrochemical Sector เพราะแรงส่งเริ่มอ่อนแรง เนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังผันผวนสูง ปัจจัยหนุนคืออุปทาน ตึงตัวจากการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย แต่มีปัจจัยกดดันจากความวิตกต่อโอกาสเศรษฐกิจถดถอย ส่วนค่าการกลั่นฟื้นตัวจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินฟื้นตัว และ สเปรดปิโตรเคมี สายอะโรเมติกส์ ปรับขึ้นเด่นจากราคาแนฟทาที่ลดลง และอุปทานตึงตัวทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ปรับขึ้น

สำหรับมุมมองการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้คือ ราคาน้ำมันดิบยังผันผวนสูง Dubai สัปดาห์ล่าสุดลดลงแรง 6% WoW เป็น $92.2/บาร์เรล จาก $97.9 ในสัปดาห์ก่อนหน้า จากความวิตกต่อโอกาสเศรษฐกิจถดถอยภายหลังจากธนาคารกลางประเทศต่างๆ เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ก็ยังผันผวนต่อเนื่อง โดยฟื้นตัวจากอุปทานตึงตัว หลังรัสเซียขู่จะหยุดการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรป หากมีการใช้มาตรการจำกัดราคานำข้าพลังงานของรัสเซีย และ EU เตรียมคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซียในวันที่ 5 ธ.ค. แต่กลับมาลดลงเมื่อวันอังคารจากคาดการณ์ว่า Fed จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแรงภายหลังอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าคาด

ขณะค่าการกลั่นฟื้นตัว ค่าการกลั่น Singapore GRM สัปดาห์ล่าสุดอยู่ที่ $8.4/บาร์เรล ฟื้นตัวจาก $6.1 ในสัปดาห์ก่อน โดยหลักจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินฟื้นตัวจาก $6.4/บาร์เรล เป็น $10.9 จากอุปสงค์ของอินเดียและเวียดนาม รวมถึง Inventory น้ำมันเบนซินลดลงต่ำสุดในรอบ 8 สัปดาห์

โดยสเปรดปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ปรับขึ้นเด่น สเปรดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ปรับขึ้นเด่นในสัปดาห์ที่ผ่านมาจากราคาแนฟทาลดลง -1%WoW และราคาผลิตภัณฑ์ PX, BZ เพิ่มขึ้นจากอุปทานตึงตัวจากการหยุดซ่อมบำรุง และกำลังเข้าสู่ฤดูกาลความต้องการของ PTA

ทั้งนี้ ราคาถ่านหินทรงตัว ราคาก๊าซธรรมชาติลดลง ราคาถ่านหินยืนทรงตัวระดับเดิม ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติปรับลดลงหลังยุโรปพยายามหาแนวทางอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย โดยพบว่าขายหนักมากขึ้นในสัปดาห์ก่อน ซึ่ง NVDR ขายหุ้นพลังงานหลักสูงถึง-4.8 พันล้านบาท โดยหลักขายหุ้นพลังงานต้นน้ำ PTTEP -2.2 พันล้านบาท., PTT -1.0 พันล้านบาท, และ BANPU -1.0 พันล้านบาท แต่ยังซื้อต่อเนื่องใน TOP +465 ล้านบาท ทางด้านเปอร์เซ็นต์การถือครองของต่างชาติก็ขายมากใน BANPU มากที่สุด -0.47% รองลงมาคือ PTTGC -0.21%

ทั้งนี้ จึงแนะนำหุ้นเด่นอย่าง PTT รอลุ้นเงินปันผล ปัจจัยแวดล้อมหุ้นพลังงานเริ่มอ่อนแรง แม้ราคาน้ำมันจะฟื้นตัวได้หลังจากลดลงมาระดับหนึ่ง แต่ไม่มีแรงส่งจากแรงซื้อของต่างชาติเข้ามาสนับสนุน คาดจ่ายในระดับสูงตามกำไร ครึ่งปีแรกที่เติบโตและฐานะการเงินแข็งแกร่ง

หุ้นกลุ่มพลังงานต้นน้ำได้ประโยชน์สูง

บล.เคทีบีเอสที มองหุ้นกลุ่ม Energy ให้คำแนะนำ "Neutral" หลัง EU ตกลงจะลดการใช้ก๊าซฯ 15% สหภาพยุโรป (EU) ได้ข้อตกลงโดยสมัครใจในการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลง 15% ในช่วงเดือน ส.ค.2022-มี.ค.2023 เทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2017-2021 ทั้งนี้ เบื้องต้นคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งมีหน้าที่ร่างกฎหมาย EU ได้เสนอให้ทุกประเทศมีการลดการใช้ก๊าซฯเท่ากันที่ 15% แต่มีบางประเทศ เช่น สเปน โปแลนด์ และกรีซ ที่คัดค้าน สุดท้ายแล้ว รัฐบาลยุโรปจึงอนุญาตให้บางประเทศลดหรือยกเลิกเป้าหมายที่ผลผูกพันได้ นอกจากนี้ประเทศที่ทำได้เกินเป้าหมายการสำรองก๊าซฯของ EU ในเดือน ส.ค. ก็ขอเป้าหมายที่ต่ำลงได้

ขณะที่ปริมาณสำรองก๊าซฯยังคงเป็นปัจจัยท้าทายสำหรับความมั่นคงด้านพลังงานในช่วงปลายปี ตามข้อมูลของ Gas Infrastructure Europe (GIE) (องค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร) ปริมาณสำรองก๊าซฯของ EU ล่าสุด (ณ วันที่ 21 ก.ค.2022) อยู่ที่ 722 Terawatt hour (TWh) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 65.0% ของความสามารถในการสำรองก๊าซฯโดยรวม ทั้งนี้ EU ตั้่งเป้าว่าจะเพิ่มปริมาณสำรองให้ได้ 80% ภายในเดือน พ.ย. เพื่อรองรับฤดูหนาวที่จะมาในช่วงปลายปี อย่างไรก็ดีเป้าหมายนี้้ยังมีความท้าทายอยู่ เนื่องจากว่า EU กำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ heat wave ซึ่งทำให้เกิดอุปสงค์การใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น

ดังนั้น บล.เคทีบีเอสที มีมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่มพลังงานต่อข่าวนี้โดยมองว่าแผนการลดใช้ก๊าซฯอาจจะไม่เพียงพอต่ออุปทานที่อาจจะลดลงอยู่ดี ทั้งนี้มีการประเมินว่าถ้า EU สามารถลดก๊าซฯได้ 15% ตามแผน EU จะสามารถลดความต้องการใช้ก๊าซฯได้ 45 พันล้านลูกบาศก์เมตร (bcm) ในช่วง เดือน ส.ค. 2022 - มี.ค.2023 เทียบกับที่ก๊าซฯที่รัสเซียจัดส่งให้ EU ก่อนการรุกรานเข้าไปในยูเครนที่ 155bcm ต่อปี (ประมาณ 40% ของความต้องการใช้ก๊าซฯของ EU)

ทั้งนี้ จึงยังคงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” สำหรับกลุ่มพลังงาน และยังคงมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มพลังงานต้นน้ำที่ยังได้ประโยชน์จากราคาพลังงานที่ยืนสูง โดยชอบหุ้น BANPU (ซื้อ/เป้า 16.00 บาท) และ PTTEP (ซื้อ/เป้า 190.00 บาท) ซึ่งรายงานกำไรปกติไตรมาส 2 ที่แข็งแกร่งจากราคาพลังงาน (น้ำมัน, ถ่านหิน, และ ก๊าซธรรมชาติ) ที่สูงจากผลกระทบจากการคว่ำาบาตรรัสเซียและปริมาณสำรองทั่วโลกที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และน่าจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มราคาพลังงานยืนสูงจากประเด็นภาวะขาดแคลนพลังงานในครึ่งหลังปี 65

ถ่านหินพุ่งอานิสงส์ ใช้ผลิตไฟฟ้า

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคาดการณ์ว่า ดัชนี CPI อาจเพิ่มขึ้นแตะ 8.1% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอลงเมื่อเทียบกับระดับ 8.5% ในเดือน ก.ค. แสดงถึงเงินเฟ้อได้ผ่านระดับสูงสุดไปแล้ว ทำให้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในครั้งหน้าอาจจะลดความร้อนแรงลงได้

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ FED แสดงความเห็นว่าดัชนี CPI ที่ชะลอตัวเพียงเดือนเดียวยังไม่พอ และยังส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมายไปมาก ดังนั้น จึงคาดว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ ขณะที่ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% และให้น้ำหนักเพียง 10% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ประกอบกับราคาน้ำมันดิบ WTI Rebound ส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มพลังงานหนุนให้การเคลื่อนไหวของดัชนีแกว่งตัวในกรอบ 1,620-1,670 จุด

ทั้งนี้ แนะนำกลยุทธ์การลงทุนที่ได้ประโยชน์จากปัญหาวิกฤตพลังงานทั้งในยุโรป และจีน โดยล่าสุดจีนขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจากน้ำในเขื่อนแล้งไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ จึงหันมาใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อชดเชยไฟฟ้าที่หายไปจากเขื่อน ซึ่งหุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าวได้แก่ PRM หรือ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน), VL หรือ บริษัท วี.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน), BANPU หรือ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน), LANNA หรือ บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และ AGE หรือ บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน)








กำลังโหลดความคิดเห็น