xs
xsm
sm
md
lg

เดือดร้อนกันทั่ว! ฝรั่งเศส-เดนมาร์กทุ่มงบหลายแสนล้านตรึงราคาพลังงาน บรรเทาผลกระทบวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกรัฐมนตรี เอลิซาเบธ บอร์น เปิดเผยเมื่อวันพุธ (14 ก.ย.) ว่า ฝรั่งเศสจะจำกัดเพดานการปรับขึ้นค่าไฟและราคาก๊าซสำหรับครัวเรือนไว้ที่ 15% ในปีหน้า โดยรัฐบาลต้องใช้เงินประมาณ 580,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากวิกฤตพลังงานครั้งเลวร้ายสุดในรอบหลายทศวรรษของยุโรป มาตรการนี้รัฐบาลเดนมาร์กก็กำลังหาทางบังคับใช้เช่นกัน

มาตรการจำกัดเพดานราคาพลังงานนี้จะใช้ต้นทุนของภาครัฐ 16,000 ล้านยูโร (ประมาณ 580,000 ล้านบาท) และป้องกันไม่ให้บิลค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว นอกจากนี้ ทางภาครัฐจะมอบความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่คนยากจน ด้วยการมอบเช็คสูงสุด 200 ยูโร (ประมาณ 7,300 บาท) สำหรับครัวเรือนต่างๆ ราว 12 ล้านครัวเรือน

บอร์น กล่าวว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับเพดานใหม่ของราคาก๊าซจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม ส่วนเพดานใหม่ของค่าไฟจะบังคับใช้ในอีก 1 เดือนหลังจากนั้น "เรามุ่งมั่นตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของวิกฤตที่เราเผชิญ ในการลงมือ ปรับตัว ปกป้องประชาชนชาวฝรั่งเศสและเศรษฐกิจของเรา"

ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้บริหารระดับสูงของสหภาพยุโรปเปิดเผยว่ามีแผนระดมเงินจากบรรดาบริษัทพลังงานทั้งหลาย 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยปกป้องครัวเรือนและภาคธุกิจต่างๆ จากราคาที่พุ่งทะยาน ซึ่งเสี่ยงฉุดรั้งเศรษฐกิจดำดิ่งสู่ภาวะถดถอยและล้มละลาย

ที่ผ่านมา ฝรั่งเศสได้ใช้เงินไปแล้วหลายพันล้านยูโร ในมาตรการต่างๆ เพื่อบรรดาผลกระทบภาวะเงินเฟ้อ อันสืบเนื่องจากราคาพลังงานที่พุ่งทะยาน

ฝรั่งเศสคุมค่าไฟไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 4% จนถึงปลายปีนี้ และบีบให้การไฟฟ้าฝรั่งเศส (EDF) รัฐวิสาหกิจพลังงาน ขายไฟให้บรรดาคู่แข่งในอัตราต่ำกว่าตลาดในปริมาณที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังตรึงค่าก๊าซสำหรับครัวเรือนไว้ในระดับเดือนตุลาคม 2021

บรรดาครัวเรือนต่างๆ ของฝรั่งเศสที่ทำความร้อนด้วยก๊าซ จะเสียค่าก๊าซโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นแค่ราวๆ 25 ยูโร (916บาท) ในแต่ละเดือน ในปี 2023 แทนที่จะเป็น 200 ยูโร (ราว 7,300 บาท) หากปราจากเพดานราคา

พวกที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ชี้ถึงอัตราเงินเฟ้อของฝรั่งเศส ซึ่งต่ำที่สุดในสหภาพยุโรปในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 6.5% แต่พวกวิพากษ์วิจารณ์แย้งว่า มาตรการกำหนดเพดานนี้ไม่ยั่งยืน และจะก่อความเจ็บปวดทางการเงินในภายหลัง

ฝรั่งเศส ประเทศที่มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มากที่สุดอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ มีความอ่อนแอน้อยกว่าบรรดาประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายต่อการถูกรัสเซียตัดอุปทานก๊าซธรรมชาติ ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก

แต่การปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จำนวนหนึ่งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ผลักให้กำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี

แม้ไม่มีความเสี่ยงไฟดับทั่วฝรั่งเศสในฤดูหนาวนี้ แต่ปัญหาไฟฟ้าดับในบางพื้นที่เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ระหว่างช่วงที่อุปสงค์พุ่งทะยานสู่ระดับสูงสุด จากการเปิดเผยของ RTE บริษัทเครือข่ายไฟฟ้าของฝรั่งเศส "เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ของยุโรป ฝรั่งเศสอยู่ในสถานะที่ยากลำบากน้อยกว่า" RTE ระบุ

ประชาชนมีความคิดเห็นต่างกันออกไปในมาตรการจำกัดเพดานของทางรัฐบาล "15% เพียงพอไหม เราอยากเห็น แต่มันก็ไม่เลว" โมฮัมหมัด เบน ฮัลลัล นักศึกษากล่าว ส่วน นาเดจ ฟิกาโรล อาชีพครู เชื่อว่าช่วงเวลาแห่งความยากลำบากรออยู่เบื้องหน้า "สิ่งที่พวกเขากำลังบอกกับเราคือ เรากำลังถูกโยนเข้าสู่โลกใหม่"

นอกเหนือจากฝรั่งเศสแล้ว รัฐบาลเดนมาร์กก็ต้องการกำหนดเพดานราคาก๊าซ ค่าไฟและค่าทำความร้อนเช่นกัน เพื่อช่วยครัวเรือนทั้งหลายรับมือกับราคาพลังงานที่พุ่งทะยานทั่วยุโรป จากการเปิดเผยของนายกรัฐมนตรีเมตเต เฟรเดอริกเซน ในวันพุธ (14 ก.ย.)

ความคิดเห็นของ เฟรเดอริกเซน มีขึ้นหลังจากข้อมูลเดือนสิงหาคม พบว่าค่าไฟและค่าก๊าซในประเทศเพิ่มขึ้นมา 5 เท่าแล้วในปีนี้ "รัฐบาลกำลังเสนอเพดานราคาที่ชาวเดนมาร์กจำเป็นต้องจ่ายค่าไฟ ค่าก๊าซและค่าทำความร้อนในเมือง" เธอกล่าว

ร่างกฎหมายนี้ ซึ่งจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา จะใช้งบประมาณราวๆ 45,000 ล้านโครเนอร์ หรือประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 220,000 ล้านบาท) "เราพูดตั้งแต่แรกแล้วว่า เราไม่อาจปกป้องชาวเดนมาร์กทุกคนจากผลกระทบของสงครามของปูติน" เธอกล่าว "แต่เราไม่อาจเพิกเฉยข้อเท็จจริงที่ว่า จะมีชาวเดนมาร์กที่ไม่สามารถจ่ายค่าไฟและค่าทำความร้อนในฤดูหนาวนี้"

"ถ้าบิลของใครสูงกว่าช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว จะเลื่อนชำระเงินไปในภายหลัง เมื่อครั้งที่ราคาลดต่ำลงอีกครั้ง" เธออธิบาย พร้อมระบุว่าการชำระเงินอาจยืดออกไปในระยะเวลา 5 ปี

เมื่อวันพุธ (14 ก.ย.) อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป วางกรอบข้อเสนอฉุดรั้งราคาก๊าซและไฟฟ้าที่พุ่งทะยานในอียู โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการเรียกเก็บภาษีลาภลอย (Windfall Tax) กำไรส่วนเกินของบรรดาบริษัทพลังงานทั้งหลาย ส่วนมาตรการอื่นๆ มีทั้งปันส่วนพลังงาน มอบเงินช่วยเหลือโดยภาครัฐเป็นการชั่วคราว และแยกราคาก๊าซกับค่าไฟ

เดนมาร์กได้ใช้มาตรการต่างๆ หลายแนวทางแล้วในความพยายามลดการบริโภคพลังงาน ในนั้นรวมถึงลดการทำความร้อนและลดการใช้ไฟฟ้าตามอาคารราชการต่างๆ

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น