สหราชอาณาจักรจะตัดอุปทานก๊าซที่ป้อนแก่ยุโรป หากว่าพวกเขาเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอย่างรุนแรง ตามรายงานของสื่อมวลชนอังกฤษในวันพุธ(29มิ.ย.) ภายใต้แผนฉุกเฉินหนึ่งที่ทางเหล่าบริษัทพลังงานเตือนว่ามันเสี่ยงซ้ำเติมวิกฤตแก่ทวีปแห่งนี้
ในขณะที่บรรดาประเทศต่างๆในยุโรปกำลังเผชิญแนวโน้มถูกรัสเซียตัดการส่งออกก๊าซ หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานว่าสหราชอาณาจักรมีแผนปิดท่อลำเลียงที่ป้อนแก่เนเธอร์แลนด์และเบลเยียม แม้มันเสี่ยงบ่อนทำลายความพยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านพลังงานก็ตาม
การปิดท่อลำเลียงเชื่อมต่อ จะเป็นหนึ่งในมาตรการเบื้องต้นภายใต้แผนฉุกเฉินด้านก๊าซของสหราชอาณาจักร ซึ่งอาจบังคับใช้โดยโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ(National Grid) หากว่าอุปทานขาดแคลนในช่วงหลายเดือนข้างหน้าที่กำลังมาถึง
บรรดาบริษัทก๊าซทั้งหลายในยุโรป วิงวอนสหราชอาณาจักรให้ร่วมมือกับอียู และเตือนว่าการปิดท่อลำเลียงเชื่อมต่ออาจก่อไฟย้อนศรเล่นงานสหราชอาณาจักรเอง หากว่าเกิดปัญหาขาดแคลนยาวนาน ทั้งนี้สหราชอาณาจักรนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากยุโรปในปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงพีคสุดของฤดูหนาว
"ผมอยากแนะนำให้สหราชอาณาจักรพิจารณาทบทวนการหยุดเชื่อมต่อ(ในกรณีที่เกิดวิกฤต) เสียใหม่" ความเห็นของ บาร์ท ยาน โฮเวอร์ส ประธานเครือข่ายผู้ให้บริการระบบขนส่งก๊าซในยุโรป(European Network of Transmission System Operators for Gas) กลุ่มทรงพลังที่สมาชิกมีทั้งบริษัท Snam ของอิตาลีและบริษัท Fluxys ของเบลเยียม
"เพราะว่าในขณะที่มันประโยชน์สำหรับทวีปยุโรปในฤดูร้อน มันก็จะเป็นประโยชน์สำหรับสหราชอาณาจักรในฤดูหนาวเช่นกัน" เขากล่าว
สหราชอาณาจักรจะทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) แผนฉุกเฉินรับมือปัญหาขาดแคลนก๊าซในเดือนกันยายน โดยแม้โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติระบุว่ามันเป็นการทดสอบประจำปี แต่ระบุการทดสอบล่าสุดนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงกรณีแวดล้อมต่างๆนานา ในขณะที่รัสเซียได้เริ่มจำกัดการส่งออกก๊าซสู่ยุโรปแล้ว
มาตรการปิดท่อลำเลียงเป็นส่วนหนึ่งของแผนฉุกเฉิน 4 ขั้น ขณะที่มาตรการฉุกเฉินอื่นๆนั้น รวมไปถึงหยุดจ่ายอุปทานป้องแก่บรรดาผู้ใช้ที่เป็นอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ และร้องขอครัวเรือนลดการบริโภค
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางเดือน เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ก็เริ่มใช้แผนฉุกเฉินของตนเองแล้ว โดยคืนชีพโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและเรียกร้องภาคอุตสาหกรรมลดการใช้ก๊าซ หลังรัสเซียลดการส่งออกก๊าซ
ท่อลำเลียงใต้ทะเล 2 ท่อที่เชื่อมต่อสหราชอาณาจักร กับเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ ถูกเปิดใช้งานเต็มศักยภาพมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ส่งออกก๊าซไปยังยุโรป 75 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในขณะที่ทวีปแห่งนี้เร่งสะสมคลังสำรอง รับมือกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะตัดการส่งมอบก๊าซเพิ่มเติม
จากข้อมูลของพวกนักวิเคราะห์ สหราชอาณาจักรมักกักเก็บคลังสำรองก๊าซในระดับต่ำ เพื่อที่จะได้ส่งอุปทานส่วนเกินป้อนแก่ทวีปยุโรป ครั้งที่อุปสงค์อยู่ในระดับต่ำในช่วงหลายเดือนของฤดูร้อน แต่ระหว่างเผชิญอากาศหนาวรุนแรง อย่างเช่นครั้ง เผชิญพายุอสูรจากตะวันออก (Beast from the East) ในปี 2018 สหราชอาณาจักรได้รับก๊าซในปริมาณสูงสุดถึง 20%-25% ของก๊าซทั้งหมดที่จ่ายผ่านท่อลำเลียงเชื่อมต่อ 2 ทางกับประเทศอื่นๆของอียู
อย่างไรก็ตามมีคำเตือนว่าแผนฉุกเฉินของเกือบทุกประเทศ ไม่เหมาะสำหรับตอบสนองต่อวิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์ เพราะว่าเบื้องต้นแผนเหล่านั้นถูกออกแบบมาเพื่อรับมือกับปัญหาความวุ่นวายในระยะสั้นเท่านั้น อย่างเช่นปัญหาขัดข้องที่บ่อก๊าซหรือสถานีนำเข้า ไม่ใช่สำหรับรับมือกับปัญหาสูญเสียอุปทานก๊าซที่ยืดเยื้อยาวนาน
"ทั่วยุโรปจำเป็นต้องมีข้อตกลงทางการเมือง เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราสามารถคาดหวังจากชาติอื่นๆอะไรได้บ้างในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ในกรณีที่เกิดวิฤตรุนแรง" นักวิเคราะห์ระบุ
รัฐบาลสหราชอาณาจักรระบุว่าพวกเขามีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมต่อความมั่นคงทางอุปทานพลังงานก่อนมุ่งหน้าสู่ฤดูหนาว พร้อมอ้างว่าพวกเขามีระบบพลังงานที่หลากหลายและเชื่อถือได้มากที่สุดในโลก และเชื่อว่าสถานการณ์ฉุกเฉินทางพลังงาน "ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้"
แต่อีกด้านหนึ่ง มารอส เซฟโควิช รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เรียกร้องให้ลอนดอนแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน "พันธมิตรสหราชอาณาจักรขอบเรารู้ดีว่า อะไรคือประโยชน์ในขอบเขตของการร่วมมือทางพลังงาน" เขากล่าว "บางครั้งคุณอยู่ในสถานะขายพลังงาน แต่บ่อยครั้งมากที่คุณจำเป็นต้องซื้อพลังงานจากพันธมิตรของคุณเช่นกัน"
(ที่มา:ไฟแนนเชียลไทม์ส)