xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรปอ่วม! เตือนเยอรมนีเจอ ศก.ถดถอยหากรัสเซียตัดก๊าซสิ้นเชิง อิตาลีผวาวิกฤตหน้าหนาวหาทางเติมคลังสำรอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เยอรมนีจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแน่นอน หากว่ารัสเซียหยุดจ่ายอุปทานก๊าซธรรมชาติโดยสิ้นเชิง จากคำเตือนขององค์กรอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในวันอังคาร (21 มิ.ย.) ในขณะที่อิตาลีเผยว่ากำลังพิจารณามอบแรงสนับสนุนทางเงิน ช่วยบริษัทต่างๆ เติมเต็มคลังสำรองก๊าซ เพื่อหลีกเลี่ยงเจอวิกฤตเลวร้ายในช่วงฤดูหนาว

ประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปวางกรอบมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับวิกฤตทางอุปทาน หลังปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ผลักให้พลังงานกลายเป็นแก่นกลางการสู้รบทางเศรษฐกิจระหว่างมอสโกกับตะวันตก

อียูพึ่งพิงอุปทานก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึง 40% ก่อนเกิดสงคราม แต่สำหรับเยอรมนี มีสัดส่วนมากถึง 55% ก่อช่องว่างมหาศาลที่ต้องเติมเต็มท่ามกลางตลาดอุปทานก๊าซโลกที่ตึงตัวอยู่ก่อนแล้ว ทำให้บางประเทศต้องกลับลำแผนปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเป็นการชั่วคราว

ราคาก๊าซดีดตัวแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ผลักเงินเฟ้อพุ่งทะยานและก่อปัญหาท้าทายเพิ่มเติมแก่บรรดาผู้กำหนดนโยบายทั้งหลายที่กำลังพยายามฉุดลากยุโรปพ้นจากภาวะล่อแหลมทางเศรษฐกิจ

สมาคมอุตสาหกรรม BDI ของเยอรมนี ในวันอังคาร (21 มิ.ย.) ปรับลดตัวเลขประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2022 ลงสู่ 1.5% จากระดับ 3.5% ที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนสงครามเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พร้อมระบุว่า การที่รัสเซียระงับป้อนก๊าซจะทำให้ภาวะถดถอยในชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปแห่งนี้ "เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้"

รัสเซียยังคงจ่ายก๊าซผ่านยูเครนแต่ในอัตราที่ลดลง ในขณะที่ท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 1 ที่ลอดใต้ทะเลบอลติก เส้นทางลำเลียงอุปทานหลักที่ป้อนแก่เยอรมนี ปฏิบัติการเพียงแค่ระดับ 40% ของศักยภาพทั้งหมด มอสโกระบุว่ามาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกทำให้ปฏิบัติการซ่อมแซมเป็นไปอย่างล่าช้า แต่ยุโรปเชื่อว่ามันเป็นเพียงข้ออ้างสำหรับลดจ่ายก๊าซเท่านั้น

โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี ระบุว่า การลดจายอุปทานก๊าซ เทียบเท่ากับเป็นการโจมตีทางเศรษฐกิจโดยฝีมือรัสเซีย และเป็นส่วนหนึ่งในแผนของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่มีเป้าหมายโหมกระพือความหวาดกลัว "นี่คือมิติใหม่ เราไม่อาจปล่อยให้ยุทธศาสตร์นี้ประสบความสำเร็จ"

การลดจ่ายก๊าซได้บ่อนทำลายความพยายามของยุโรปที่กำลังเร่งเติมเต็มคลังสำรองของพวกเขาให้ได้ตามเป้าหมายในวงกว้างของอียูที่ระดับ 80% ในเดือนตุลาคมและ 90% ในเดือนพศจิกายน ซึ่งเป็นระดับที่มองว่าจะช่วยให้อียูผ่านพ้นฤดูหนาวไปได้ แม้เกิดความวุ่นวายทางอุปทานซ้ำเติมอีก อย่างไรก็ตามเวลานี้พวกเขาเติมเต็มคลังสำรองได้เพียงแค่ระดับ 55% เท่านั้น

ในวันอังคาร (21 มิ.ย.) รัฐบาลอิตาลีแถลงมาตรการเบื้องต้นในการเติมเต็มคลังก๊าซสำรอง หลังจากบริษัทพลังงาน Eni แจ้งว่าถูกรัสเซียปรับลดการจ่ายก๊าซมานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว

โรแบร์โต ซินโกลานี รัฐมนตรีเปลี่ยนผ่านนิเวศวิทยา ระบุในถ้อยแถลงว่ารัฐบาลมีแผนจัดซื้อถ่านหินถ้ามีความจำเป็นต้องใช้โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเพื่อประหยัดก๊าซ พร้อมเผยว่าบริษัทจ่ายก๊าซ Snam SRG.MI จะใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเติมคลังสำรองก๊าซของพวกเขาสู่ระดับเป้าหมายใหม่ในเดือนมิถุนายน

ส่วนประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากอิตาลี ในนั้นรวมถึงออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ออกคำเตือนขั้นแรกในแผน 3 ขั้น รับมือกับวิกฤตอุปทานก๊าซธรรมชาติ โดยหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบพลังงานเยอรมนี (Bundesnetzagentur) วางกรอบรายละเอียดของระบบประมูลใหม่และจะเริ่มบังคับใช้ในสัปดาห์หน้า ซึ่งมีเป้าหมายสนับสนุนบรรดาผู้ผลิตทั้งหลายลดการบริโภคก๊าซ

เมื่อถูกถามว่าจากสถานการณ์การป้อนก๊าซในปัจจุบัน ประเทศจะผ่านพ้นฤดูหนาวนี้ไปได้หรือไม่ ทาง เคราส์ มุลเลอร์ ประธาน Bundesnetzagentur บอกว่ามันยังเร็วเกินไปที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเต็มรูปแบบ หรือขั้นที่ 3 ของแผนรับมือวิกฤตอุปทานก๊าซธรรมชาติ "ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราจะเจอกับปัญหา"

มาร์คุส เครบเบอร์ ซีอีโอบริษัท RWE สาธารณูปโภคยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี ยอมรับว่ายุโรปมีเวลาน้อยนิดสำหรับเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านก๊าซ "เราจะจัดสรรก๊าซได้อย่างไรหากเราถูกตัดขาดก๊าซโดยสิ้นเชิง ปัจจุบันไม่มีแผนใดๆ ในระดับยุโรป ในขณะที่ทุกประเทศกำลังตรวจสอบความเป็นไปได้ในแผนฉุกเฉินของตนเอง"

ราคาก๊าซที่พุ่งสูงในยุโรปได้หันเหความสนใจไปที่ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มากขึ้น แต่ยุโรปไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพียงพอสำหรับรองรับแอลเอ็นจี ในขณะที่ตลาดพลังงานชนิดนี้ตึงตัวอยู่ก่อนแล้ว แม้กระทั่งในตอนก่อนเกิดสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย

ยุโรปกำลังเสาะหาอุปทานทางท่อลำเลียงเพิ่มเติมจากบรรดาผู้ผลิตของตนเอง อย่างเช่นนอร์เวย์และประเทศอื่นๆ ในนั้นรวมถึงอาเซอร์ไบจาน อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ผลิตส่วนใหญ่ได้เพิ่มกำลังผลิตจนถึงขีดจำกัดแล้ว

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น