บรัสเซลส์และบรรดาเอ็นจีโอทั้งหลาย แสดงความกังวลต่อกรณีหลายประเทศในสหภาพยุโรป ในนั้นรวมถึงเยอรมนี กำลังหันกลับไปใช้ถ่านหินเพื่อก่อกำเนิดไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติ ผลลัพธ์จากสงครามของรัสเซียในยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปทานทางพลังงาน
"เราจำเป็นต้องทำให้แน่ใจว่าเราใช้วิกฤตนี้ในการก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่ไถลถอยหลังกลับสู่เชื้อเพลิงฟอสซิลสกปรก" อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวกับสื่อมวลชนยุโรปหลายสำนัก ระหว่างให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคาร (21 มิ.ย.)
"มันเป็นเส้นบางๆ และมันไม่ใช่ข้อสรุปว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่" เธอระบุ
ยุโรป ดินแดนที่บริโภคพลังงานสูงลิ่ว กำลังหิวโหยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นการบ่อนทำลายร้ายแรงต่อความทะเยอทะยานของอียูในการลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050
เป้าหมายดังกล่าวคือหนึ่งในเสาหลักนโยบายต่างๆ ของ ฟอน แดร์ ไลเอิน ระหว่างที่เธอกุมบังเหียนคณะกรรมาธิการยุโรป
เยอรมนี ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์ เผยว่าพวกเขาจะผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ที่กำหนดกับโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินทั้งหลาย หลัง ก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจพลังานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ระบุจะปรับลดปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ป้อนผ่านท่อลำเลียงนอร์ดสตรีมไปยังเยอรมนี
โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนีระบุในวันอังคาร (21 มิ.ย.) ว่าการปรับลดอุปทานก๊าซที่ป้อนแก่ยุโรป คือการที่มอสโก "โจมตีเรา"
อย่างไรก็ตาม เยอรมนีชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปและผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดของทวีป ยืนยันว่าพวกเขายังมีแผนเลิกใช้ถ่านหินในปี 2030 แต่บรรดากลุ่มสิ่งแวดล้อมแสดงความเคลือบแคลงสงสัยต่อแผนดังกล่าว
"การหวนกลับสู่ถ่านหินเป็นตัวเลือกที่แย่ ที่มาพร้อมกับผลกระทบทางโครงสร้าง" นีล มาคารอฟฟ์ จาก Climate Change Network เครือข่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ "ประเทศต่างๆ เดินหน้ากลับสู่พลังงานฟอสซิลแทนที่จะลงทุนอย่างพอเพียงในพลังงานหมุนเวียน"
ส่วนกลุ่ม Carbon Market Watch เห็นพ้องวว่าการกลับคืนสู่ถ่านหินเป็นอะไรที่ "น่ากังวล" และแสดงความหวังว่าความเคลื่อนไหวนี้จะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว
อียูแบนนำเข้าถ่านหินและน้ำมันจากรัสเซียอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งมาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดเล่นงานมอสโกตอบโต้กรณีรุกรานยูเครน กระตุ้นให้มอสโกตอบโต้ด้วยการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติป้อนแก่ประเทศต่างๆ ในอียู
แม้รัสเซียอ้างปัญหาทางเทคนิคและเหตุผลด้านการบำรุงรักษาในอุปทานที่ลดลง แต่หลายชาติในสหภาพยุโรปเชื่อว่าแท้จริงแล้วมอสโกกำลังพยายามเล่นงานอียูฐานสนับสนุนยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เคียฟยื่นใบสมัครหวังเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มในวันหนึ่งวันใดในอนาคต
(ที่มา : อัลจาซีราห์)