xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.พร้อมรับมือการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เร่งลงทุนพลังงานอนาคต-ธุรกิจใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.ชี้การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส เดินหน้ารุกธุรกิจใหม่และพลังงานอนาคต เตรียมประกาศเป้าหมาย Net Zero ของกลุ่ม ปตท.เร็วๆ นี้ ย้ำเร็วกว่าเป้าหมายภาครัฐที่ประกาศปี 2065 จ่อขายทิ้งธุรกิจถ่านหินภายในปีนี้

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT)กล่าวในงานสัมมนา TEA FORUM 2022 “Mission Possible: Energy Transition to the Next 2050 ภารกิจพลังงาน เปลี่ยนอนาคต” ว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงาน ปตท.มองว่าเป็นเรื่องท้าทายและเป็นโอกาสเนื่องจากพลังงานฟอสซิลทั้งถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาตินั้นโลกใช้อยู่ราว70% จะเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานสีเขียวและไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งปตท.มีการลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้ง 3 ชนิด พบว่าถ่านหินได้ผ่านจุดความต้องการใช้สูงสุด (peak) ไปแล้วเมื่อปี ค.ศ. 2015 ดังนั้น ปตท.จะขายธุรกิจถ่านหินภายในปีนี้ ส่วนน้ำมัน คาดว่าจุดความต้องการใช้สูงสุด (peak) อยู่ในปี ค.ศ. 2032 และก๊าซฯ ยังจะมีความต้องการใช้ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าปี ค.ศ. 2040 เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดที่ยังมีความต้องการใช้ก่อนไปสู่พลังงานหมุนเวียน


ดังนั้น ปตท.ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่คือ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” โดย Future Energy ปตท.วางเป้าหมายมีพลังงานหมุนเวียน 12,000 เมกะวัตต์ในปี 2573 จากปัจจุบันอยู่ที่ 2,000 เมกะวัตต์, ธุรกิจแบตเตอรี่ และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยจัดตั้งบริษัท อรุณ พลัส เพื่อลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าตลอดห่วงโซ่มูลค่า ทั้งธุรกิจแบตเตอรี่ แอปพลิเคชัน EVme เพื่อให้เช่ารถอีวี และการพัฒนาแพลตฟอร์มผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยร่วมทุนกับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ที่จะเดินหน้าจัดตั้งโรงงานผลิตรถอีวีในประเทศไทย กำลังผลิตเริ่มต้น 50,000 คัน ภายในปี 2567 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนคันภายในปี 2573 ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดหาพื้นที่จัดตั้งโรงงาน ซึ่งหากได้พื้นที่ก็จะเดินหน้าได้ทันที

ส่วนกลุ่ม Beyond มี 5 ธุรกิจที่ ปตท.จะมุ่งไป ประกอบด้วย Life Science, High Value Business, Mobility & Lifestyle, Logistics & Infrastructure และ AI,Robotics & Digitalization

ทั้งนี้ ปตท.ได้จัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กลุ่ม ปตท. (PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET) เพื่อวางเป้าหมายบรรลุ Net Zero ของกลุ่ม ปตท.ที่เตรียมประกาศเป้าหมายพร้อมแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนในเร็วๆ นี้ แต่ยืนยันว่าจะเป็นเป้าหมายที่เร็วกว่าที่ภาครัฐประกาศไว้ในปี ค.ศ. 2065 แน่นอน


นอกจากนี้ ปตท.ได้กำหนดแผนงานเพื่อไปสู่ป้าหมายดังกล่าว ด้วยการทำงาน 3 ด้านหลัก (3P’s Decarbonization Pathways) ได้แก่ Pursuit of Lower Emission ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด เชื่อมโยงกับเป้าหมาย Clean growth โดยโครงการที่สำคัญในการบริหารจัดการ ได้แก่ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) โดยพบว่าอ่าวไทยมีศักยภาพกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 40 ล้านตันต่อปี โดย ปตท.สผ.นำร่อง CCS ในแหล่งอาทิตย์ หากพบว่ามีศักยภาพดีก็อาจเปิดรับบริการกักเก็บคาร์บอนให้กับเอกชนที่สนใจ, การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ (CCU) ซึ่งขณะนี้ศึกษาอยู่ 4 โครงการ, การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฮโดรเจน การดำเนินโครงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย

Portfolio Transformation โดยขับเคลื่อนธุรกิจ Future Energy and Beyond ปตท.ตั้งเป้าสัดส่วนกำไรมาจากธุรกิจใหม่นี้ถึง 30% ในปี 2573 และเพิ่มสัดส่วน Green Portfolio

Partnership with Natural and Society กลุ่ม ปตท.มีแผนปลูกป่าเพิ่มอีก 2 ล้านไร่ โดยร่วมกับภาครัฐและชุมชน คาดว่าจะดูดซับคาร์บอนได้ถึง 2.14 ล้านตันคาร์บอนต่อปี

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ประเทศไทยต้องเผชิญความท้าทายทั้งด้านความมั่นคงพลังงาน ราคาพลังงานที่สูงขึ้นและ Net Zero จำเป็นต้องบาลานซ์ให้ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น