xs
xsm
sm
md
lg

“โอมาน” ชมไทยก้าวไวสังคมคาร์บอนต่ำ "สุพัฒนพงษ์" กางแผนขับเคลื่อนมั่นใจสู่เป้าหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีพลังงานและสินแร่ประเทศโอมานชมไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานเพื่อขับเคลื่อน ศก.ได้ดี และยังก้าวไวในการเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ย้ำเป็นภารกิจระดับโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือ อดทน ชี้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน (CCS) เป็นทางออกที่ดี ด้านสุพัฒนพงษ์มั่นใจไทยจะก้าวสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ในปี ค.ศ. 2050

ฯพณฯ ดร.โมฮัมเหม็ด บิน ฮามัด อัล รุมมี (H.E. Dr. Mohammed bin Hamad Al Rumhy) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและสินแร่ ประเทศโอมาน กล่าวผ่านระบบประชุมทางไกลในงานสัมมนา TEA FORUM 2022 “Mission Possible: Energy Transition to the Next 2050 ภารกิจพลังงาน เปลี่ยนอนาคต” จัดโดย กระทรวงพลังงาน สถาบันวิทยาการพลังงาน ปตท. ว่า การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) เป็นวาระสำคัญระดับโลก โดยโอมานในฐานะผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายหนึ่งและเป็นสมาชิกกลุ่มโอเปกจึงเห็นว่านานาชาติต้องร่วมมือและหาทางออกด้วยกันซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งรัฐและเอกชน และเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน (Carbon capture and storage : CCS) แล้วนำมาใช้ประโยชน์ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการขจัดคาร์บอนอย่างสิ้นเชิง
 
“เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนแล้วนำมาใช้ประโยชน์เป็นทางเลือกที่ดี เพราะในระยะ 30-40 ปีข้างหน้าโอมานก็คงยังต้องผลิตและยังไม่สามารถยกเลิกการใช้น้ำมันได้ แต่ความท้าทายที่สุดคือการเงินสนับสนุน เพราะการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้ต้นทุนสูงมาก แต่เนื่องจากทั้งโอมานและไทย รวมทั้งประเทศอื่นๆ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านโลก ทุกประเทศจึงต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งไทยทำได้ดีมากมีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมพลังงานที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งยังก้าวไวในพันธกิจสังคมคาร์บอนต่ำ มันไม่ง่าย ต้องอดทนก้าวไป และมองผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ” รมว.พลังงานและสินแร่โอมานกล่าว

ทั้งนี้ มองว่าเรื่องนี้ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ และนั่นก็หมายถึงโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวมาแล้วว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน หรือ Energy Transition นั้นต้องใช้เวลา จึงต้องมีความอดทน ต้องมองในแง่ความมั่นคงด้านพลังงาน ควบคู่กันไปกับการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะ “พลังงาน” คือพลังขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ไทยประกาศเป้าหมายในเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ COP26 ที่จะก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งถือเป็นความท้าทายเนื่องจากขณะนี้ไทยเป็นผู้ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกถึง 350 ล้านตันต่อปี จึงต้องเร่งที่จะแก้ไขในจุดนี้ และจากแผนการดำเนินงานที่วางไว้มั่นใจว่าไทยจะก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้
 
สำหรับแนวทางลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภาคพลังงานในส่วนของไฟฟ้าที่ยังพึ่งเชื้อเพลิงจากฟอสซิลกว่า 70% มีเป้าหมายจะต้องลดให้ต่ำกว่า 50% โดยกำหนดให้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ระยะ 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 50% ภายในปี 2583 ภาคขนส่งที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เกือบ 100 ล้านตันต่อปีก็ได้มุ่งไปสู่การส่งเสริมการใช้อีวี รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟและประหยัดพลังงานที่สูงขึ้นในภาคอาคาร สำนักงาน จากแผนดังกล่าวยังคงมีปริมาณก๊าซฯ คาร์บอนไดออกไซด์เหลืออีกจึงมองมาที่การปลูกป่าแต่ก็ยังคงเหลือก๊าซคาร์บอนฯ อีกราว 30 ล้านตันจึงมองในเรื่องของเทคโนโลยี CCS ซึ่งทางกรมเชื้อเพลิงได้ร่วมกับ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมทำการศึกษาเบื้องต้นจะสามารถใช้พื้นที่แหล่งปิโตรเลียมของไทยที่มีอยู่กักเก็บได้ 2,700 ล้านตัน ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น