xs
xsm
sm
md
lg

ไบเดนนำทีมจี 7 ประกาศระดมทุน $6 แสนล้าน ดันโปรเจกต์ทั่วโลกแข่ง ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ของจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บรรดาผู้นำกลุ่มจี 7 ถ่ายภาพหมู่แบบไม่เป็นทางการ ภายหลังเสร็จสิ้นการรับประทานอาหารค่ำพร้อมกับทำงานไปด้วย ณ รีสอร์ต ปราสาทเอลมาว ทางภาคใต้ของเยอรมนี เมื่อวันอาทิตย์ (26 มิ.ย.)
บรรดาผู้นำของกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมสำคัญของฝ่ายตะวันตก (จี 7) ประกาศจัดทำโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ทั่วโลก โดยมุ่งจะระดมทุน 600,000 ล้านดอลลาร์ภายในระยะ 5 ปี หวังแข่งขันกับ “แผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (บีอาร์ไอ) ของจีน ที่ล่วงหน้าไปแล้วหลายปี และมีกว่า 100 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมแล้ว

โครงการหุ้นส่วนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนทั่วโลก (The Partnership for Global Infrastructure and Investment หรือ PGII) ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกา ร่วมกับผู้นำอื่นๆ ในกลุ่มจี 7 ประกาศออกมาระหว่างการประชุมซุมมิตที่รีสอร์ตหรูทางภาคใต้ของเยอรมนีเมื่อวันอาทิตย์ (26 มิ.ย.) มีเป้าหมายเพื่อไล่ตามช่วงห่างขนาดใหญ่ซึ่งเกิดขึ้น ขณะที่จีนใช้บารมีทางเศรษฐกิจตนเป็นเครื่องนำทางการสยายปีกทางการทูตเพื่อเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ ในทั่วโลก

ทั้งนี้ จีนประกาศเปิดตัวแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมาตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้าง “เส้นทางสายไหม” ยุคโบราณซึ่งเป็นเส้นทางการค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปขึ้นมาใหม่ในเวอร์ชันสมัยปัจจุบัน โดยเน้นหนักที่การร่วมมือและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ของประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก และไม่ใช่เฉพาะในเอเชียกับยุโรปเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงแอฟริกาและละตินอเมริกาอีกด้วย

ไบเดนประกาศในเวทีซัมมิตจี 7 ว่า อเมริกาจะสนับสนุนเงิน 200,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่โครงการ PGII ภายในปี 2027 ส่วนที่เหลือ 400,000 ล้านดอลลาร์จะมาจากอีก 6 ชาติในกลุ่มจี 7

ประมุขทำเนียบขาวระบุว่า การอัดฉีดโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานแบบที่จีนครอบงำอยู่ขณะนี้ ซึ่งมีทั้งถนนหนทางไปจนถึงท่าเรือในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ใช่เป็นเรื่องความช่วยเหลือหรือการกุศล แต่โครงการเหล่านี้จะให้ผลตอบแทนทุกคน ซึ่งรวมถึงคนอเมริกัน และประชาชนในประเทศอื่นๆ ทั้งหมด

ไบเดน สำทับว่า การที่จีนซึ่งเป็นปรปักษ์ของระบอบประชาธิปไตย กำลังแสดงบทบาทในเรื่องนี้ในทั่วโลกอยู่แล้ว ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับกลุ่มจี 7 ที่จะได้เผยแพร่วิสัยทัศน์ทางบวกของตนเกี่ยวกับอนาคต และให้ประเทศอื่นๆ ได้มองเห็นด้วยตนเองถึงประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจากการร่วมมือกับพวกประเทศประชาธิปไตย

ขณะที่ อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู และเข้าร่วมการประชุมซัมมิตจี 7 ด้วย กล่าวเสริมว่า PGII ทำให้จี 7 สามารถสร้างแรงกระตุ้นทางการลงทุนที่ทรงพลังให้แก่โลก เพื่อแสดงให้บรรดาหุ้นส่วนของเราในโลกกำลังพัฒนามองเห็นว่าพวกเขายังมีทางเลือกอื่นๆ

แม้ไม่ได้มีการเอ่ยชื่อจีนโดยตรง แต่บรรยากาศแห่งความเป็นปรปักษ์ก็ปรากฏให้เห็นขณะที่ผู้นำเหล่านี้แถลงเกี่ยวกับแผนการนี้ ซึ่งเป็นการเปิดตัวใหม่กันอีกครั้งของความพยายามครั้งแรกในเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของฝ่ายตะวันตก ซึ่งไบเดนไปประกาศไว้ในซัมมิตจี 7 เมื่อปีที่แล้วที่สหราชอาณาจักร

แผนการของจี 7 นี้ จะขึ้นอยู่กับบริษัทเอกชนที่ยินดีลงทุนขนาดใหญ่เป็นหลัก ต่างจากข้อริเริ่มบีอาร์ไอที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีน ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ถือโอกาสวิจารณ์โจมตีจีนว่า ประเทศผู้ร่วมมือกับแผนการของฝ่ายตะวันตก จะสามารถหลีกเลี่ยงกับดักหนี้สินและกลยุทธ์การขู่กรรโชกอื่นๆ ที่ฝ่ายตะวันตกกล่าวหาว่าปักกิ่งใช้อยู่

ด้านทำเนียบขาวให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงปี 2027 รัฐบาลสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจะกำหนดเป้าหมายระดมเงินทุน 600,000 ล้านดอลลาร์ โดยจะมีทั้งเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ การหาเงินกู้โดยรัฐบาลสหรัฐฯ และการใช้ประโยชน์จากการลงทุนของภาคเอกชน พร้อมย้ำว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ในอนาคตอเมริกาและหุ้นส่วนจี 7 จะพยายามดึงดูดเงินทุนเพิ่มเติมจากประเทศหุ้นส่วนอื่นๆ ที่มีแนวคิดเหมือนกัน ตลอดจนธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ 

เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของอเมริกายืนยันว่า แม้เริ่มต้นหลังจีนหลายปี แต่ยังไม่สายเกินไป และสำทับว่า หลายประเทศที่เป็นหุ้นส่วนกับจีนภายใต้แผนการริเริ่มบีอาร์ไอต่างรู้สึกเสียใจ เนื่องจากจีนสนใจในการสร้างรากฐานด้านเศรษฐกิจและภูมิยุทธศาสตร์มากกว่าผลประโยชน์ของท้องถิ่นนั้นๆ

เจ้าหน้าที่คนเดิมเพิ่มเติมว่า โครงการของจี 7 เน้นนำเสนอการลงทุนที่จะช่วยปรับปรุงประเทศและเศรษฐกิจของหุ้นส่วนซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และประชาชนอย่างแท้จริง

และแม้เป้าหมายที่ชัดเจนของโครงการนี้คือแอฟริกา แต่อเมริกาใต้และหลายประเทศในเอเชียก็อยู่ในความสนใจของจี 7 เช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่ผู้นี้ทิ้งท้ายว่า นอกจากนั้น ผลกระทบจากสงครามยูเครนหมายความว่า แม้แต่ยุโรปตะวันออกก็อาจถูกดึงเข้าร่วมโครงการนี้เช่นกัน

สำหรับปฏิกิริยาจากฝ่ายจีน เจ้า ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแดนมังกร ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับแผนการมูลค่า 600,000 ล้านดอลลาร์ของกลุ่มจี 7 โดยกล่าวว่า “จีนมีความยินดีต้อนรับเรื่อยมาในแผนการริเริ่มทุกๆ แผนที่มุ่งกระตุ้นส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของทั่วโลก

“เราเชื่อว่าไม่มีปัญหาใดๆ เลยในเรื่องที่ว่าแผนการริเริ่มต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน จะมีการเข้าแทนที่อีกแผนการริเริ่มหนึ่ง” เจ้า กล่าวระหว่างการแถลงข่าวตามปกติเมื่อวันจันทร์ อย่างไรก็ดี เขาพูดต่อไปว่า “เราคัดค้านการมุ่งผลักดันเพื่อให้เป็นไปตามการคาดคำนวณในทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยใช้ข้ออ้างเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือการใส่ร้ายป้ายสีแผนการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
กำลังโหลดความคิดเห็น