xs
xsm
sm
md
lg

เยอรมนีรูดม่านเปิดประชุมซัมมิต G7 คาดถกเครียดสงครามยูเครน-พลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ต้อนรับผู้นำ G7 ที่เดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดเป็นเวลา 3 วัน เริ่มต้นเมื่อวันอาทิตย์ (26 มิ.ย.) ซึ่งคาดว่า ประเด็นหลักหนีไม่พ้นสงครามยูเครน และผลลัพธ์ที่กินวงกว้างตั้งแต่การขาดแคลนพลังงาน จนถึงวิกฤตอาหาร

การประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นที่เทือกเขาบาวาเรีย เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่อึมครึมกว่าซัมมิตเมื่อปีที่แล้วที่ผู้นำอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และอเมริกา พบกันเป็นครั้งแรกนับจากวิกฤตโควิด และให้คำมั่นจะฟื้นฟูโลกให้เข้มแข็งกว่าเดิม

ปัจจุบัน ราคาพลังงานและอาหารที่พุ่งทะยานกำลังโจมตีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่สงครามยูเครนยังดุเดือดไร้จุดจบ

สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตือนเมื่อวันศุกร์ (24 มิ.ย.) เกี่ยวกับวิกฤตผู้หิวโหยทั่วโลกแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอ้างสิทธิในดินแดนต่างๆ ของจีน และการผงาดขึ้นมาของระบอบเผด็จการ เป็นส่วนหนึ่งในวาระการประชุมเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ คาดว่าผู้นำ G7 จะแสดงความเป็นเอกภาพในการสนับสนุนยูเครนตราบที่จำเป็นและเพิ่มความกดดันต่อเครมลิน แม้ต้องการหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรที่จะกระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อยิ่งพุ่งขึ้น รวมถึงกระตุ้นวิกฤตค่าครองชีพที่ส่งผลต่อประชาชนของตัวเองก็ตาม

แหล่งข่าววงในเสริมว่า G7 ยังเตรียมประกาศข้อตกลงแบนการนำเข้าทองคำจากรัสเซีย ขณะที่แหล่งข่าวในรัฐบาลเยอรมนีสำทับว่า บรรดาผู้นำมีการหารือที่ “สร้างสรรค์อย่างแท้จริง” เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจำกัดราคานำเข้าน้ำมันรัสเซีย

นอกจากนั้น ผู้นำ G7 ยังถูกคาดหมายว่าจะหารือทางเลือกในการจัดการปัญหาราคาพลังงานพุ่งทะยาน และตัวเลือกแทนน้ำมันและก๊าซรัสเซีย

ซัมมิตครั้งนี้จัดขึ้นที่รีสอร์ตชลอสส์ เอลมอ ที่เชิงเขาซุกสปิตเซอ ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในเยอรมนี และเป็นสถานที่เดียวกับที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพการประชุม G7 ปี 2015 ที่ประเด็นหลักในการหารือคือความก้าวร้าวของรัสเซียต่อยูเครนจากเหตุการณ์มอสโกบุกและเข้าผนวกไครเมีย

การประชุมสุดยอด G7 ครั้งนี้ยังเป็นโอกาสที่ชอลซ์จะใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพแสดงความเป็นผู้นำที่แข็งกร้าวขึ้นเกี่ยวกับวิกฤตยูเครน

ชอลซ์ประกาศปฏิวัตินโยบายต่างประเทศและกลาโหมของเยอรมนี หลังจากรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยให้สัญญาทุ่มงบประมาณ 100,000 ล้านยูโรเสริมสร้างแสนยานุภาพกองทัพ และส่งอาวุธให้ยูเครน

นับแต่นั้นมีเสียงวิจารณ์กระหึ่มว่า ผู้นำเมืองเบียร์เตะถ่วง แถมส่งสัญญาณสับสนด้วยการเตือนว่า รัสเซียอาจมองว่า องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เป็นคู่สงคราม พร้อมตอกย้ำความเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์

กลุ่ม G7 ก่อตั้งขึ้นในปี 1975 เพื่อเป็นเวทีประชุมของประเทศที่รวยที่สุดเกี่ยวกับวิกฤตต่างๆ เช่น การคว่ำบาตรน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก)

6 ปีหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย G7 รับรัสเซียเข้าเป็นสมาชิกและเปลี่ยนชื่อเป็น G8 แต่มอสโกถูกระงับสมาชิกภาพในปี 2014 หลังจากเข้าผนวกไครเมีย

ปีนี้ชอลซ์ยังเชิญประเทศอื่นๆ เข้าร่วม เช่น เซเนกัล ประธานสหภาพแอฟริกาวาระปัจจุบัน อาร์เจนตินา ประธานประชาคมละตินอเมริกาและแคริบเบียนวาระปัจจุบัน ตลอดจนถึงอินโดนีเซียและอินเดีย เจ้าภาพปัจจุบันและเจ้าภาพในอนาคตของกลุ่ม G20 ตามลำดับ และแอฟริกาใต้

ชอลซ์แถลงต่อรัฐสภาเยอรมนีเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ซัมมิต G7 ต้องสื่อสารมากกว่าแค่บอกว่า นาโต้และ G7 มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกว่าที่ผ่านมา แต่ต้องย้ำว่าประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกยืนหยัดต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย แบบเดียวกับที่ร่วมกันต่อสู้กับความหิวโหยและความยากไร้

หลายประเทศในซีกโลกใต้กังวลว่า จะเกิดความเสียหายที่ไม่ตั้งใจจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของตะวันตก

เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป (อียู) เผยว่า G7 จะยืนยันกับประเทศหุ้นส่วนว่า การที่ราคาอาหารแพงขึ้นเป็นผลจากการกระทำของรัสเซีย และมาตรการคว่ำบาตรไม่ได้พุ่งเป้าที่อาหาร รวมทั้งเป็นการเข้าใจผิดพลาดที่คิดว่า สงครามยูเครนเป็นปัญหาของยูเครนเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น