นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมกรอบความร่วมมือ BRICS Plus ครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อหลัก “สร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในศักราชใหม่เพื่อร่วมอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ชู 3 แนวคิดสำคัญฟื้นเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ยั่งยืน”
วันนี้ (25 มิ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า
พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ เมื่อคืนวานนี้ (24 มิ.ย. 65) เป็นโอกาสอันดียิ่งของประเทศไทย ในการขยายความร่วมมือกับกลุ่มประเทศระดับโลก โดยที่ผมได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาของโลกกรอบความร่วมมือ “BRICS Plus” ซึ่งประกอบด้วย “กลุ่มประเทศ BRICS” 5 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูงของโลก ได้แก่ จีน รัสเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้ และ บราซิล กับ “กลุ่มประเทศ EMDCs” หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่ได้รับเชิญ 13 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา แอลจีเรีย อาร์เจนตินา อียิปต์ คาซัคสถาน เซเนกัล อิหร่าน อุซเบกิสถาน เอธิโอเปีย และ ฟิจิ ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ BRICS ถือว่ามีบทบาทและความสำคัญอย่างมากต่อเวทีโลกในปัจจุบัน โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง มีจำนวนประชากรรวมกันมากถึง 41% ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) รวมกันคิดเป็น 27% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันมากกว่า 16% ของโลก ยิ่งกว่านั้นคาดว่าขนาดเศรษฐกิจของ BRICS อาจแซงหน้ากลุ่ม G7 หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกในปัจจุบันได้ ภายใน 23 ปีข้างหน้า คือ ปี 2588 ดังนั้น การที่ไทยได้เข้าร่วมประชุมกับกลุ่ม BRICS Plus จึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขยายการค้าการลงทุนในเวทีโลก ซึ่งไทยเองเป็นเป้าหมายการเดินทางอันดับต้นๆ ของประเทศในกลุ่ม BRICS อยู่แล้วตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด จึงยิ่งมีศักยภาพสูงในการเจรจาความร่วมมือที่มากยิ่งขึ้น
หัวข้อหลักของการประชุม BRICS Plus ในครั้งนี้ คือ “การสร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในศักราชใหม่ เพื่อร่วมอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030” ซึ่งมีประเด็นหารือที่สำคัญ ได้แก่
(1) การร่วมมือกันรับมือความท้าทายต่อความมั่นคง แบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่ เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน
(2) การส่งเสริมการปฏิรูประบบธรรมาภิบาลโลก เพื่อประโยชน์ด้านการพัฒนาร่วมกัน
(3) การกระชับความร่วมมือในสาขาสำคัญ เพื่อเร่งการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030
(4) การรักษาระบบพหุภาคีนิยมอย่างแท้จริง สร้างความเป็นหุ้นส่วนระดับโลก เพื่อการพัฒนาอย่างมีเอกภาพ เสมอภาค สมดุล และครอบคลุม
ซึ่งอาจกล่าวโดยรวมได้ว่าเป็นการประสานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างกัน โดยเน้นหลัก 3 ประการ คือ การยึดมั่นในระบบพหุภาคี การพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง และการรักษาความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
ในการนี้ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทย ผมได้รับการเชิญให้กล่าวถ้อยแถลงและแสดงวิสัยทัศน์ของไทย ในการฟื้นตัวอย่างสมดุลและยั่งยืน จากโควิด-19 และวิกฤตความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป ตลอดจนการเผชิญหน้ากับภัยจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความไม่มั่นคงทางอาหาร วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ภาวะเงินเฟ้อ และปัญหาน้ำมัน ปุ๋ย สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ซึ่งเป็นวิกฤตของโลกที่แทบทุกประเทศได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้ โดยผมได้แบ่งปันแนวคิดสำคัญ 3 ประการ ที่เราเชื่อว่า จะช่วยให้กลุ่มประเทศ BRICS และ EMDCs สามารถร่วมมือกันได้อย่างสร้างสรรค์ อันจะเป็นหนทางนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ที่ตั้งอยู่บนระเบียบระหว่างประเทศที่มีกฎกติกาและเคารพหลักธรรมาภิบาล ได้แก่
1. การพลิกฟื้นระบบพหุภาคีให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานและการเชื่อมโยงกันในทุกมิติ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานข้ามพรมแดน ทั้งด้านดิจิทัล คมนาคม และพลังงาน เพื่อที่จะรับมือกับความท้าทายอุบัติใหม่ในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การปฏิรูประบบพหุภาคีและปรับกระบวนทัศน์ใหม่ให้มีความสมดุลในทุกมิติ โดยในส่วนของประเทศไทยได้มุ่งส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) สู่ “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” ซึ่งเน้นความเจริญที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ลดความเหลื่อมล้ำ และรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
3. การสรรค์สร้างระบบพหุภาคีบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล เศรษฐกิจโลกที่เป็นธรรม ไม่สร้างความแตกแยก และส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น การปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคมากขึ้น รวมถึงการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขาย การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างกัน และการสร้างระบบภาษีที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ บทบาทสำคัญของไทย ในฐานะเจ้าภาพเอเปกและประธานบิมสเทค ไทยพร้อมทำหน้าที่เป็น “สะพาน” เชื่อมความร่วมมือระหว่างกัน จาก “มหาสมุทรอินเดียสู่มหาสมุทรแปซิฟิก” เพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของประชาชน และคนรุ่นหลังต่อไปด้วย
ผมจึงเชื่อว่า การที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม BRICS Plus จะส่งผลดีต่อประเทศไทยในหลากหลายมิติที่จะตามมาในเร็วๆ นี้ โดยรัฐบาลจะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ในการแปลงข้อตกลงต่างๆ ออกมาเป็นนโยบายและแผนการค้าการลงทุน ตลอดจนความร่วมมือต่างๆ ในการพัฒนาและฟื้นฟูประเทศในยุคหลังโควิดอย่างเต็มที่ครับ