ความวิตกกังวลธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1% ในการประชุมระหว่างวันที่ 20-21 กันยายนนี้ จุดชนวนความตื่นตระหนกให้นักลงทุนจนพากันเทขายหุ้นทิ้ง ฉุดให้ดัชนีหุ้นทั่วโลกแดงฉาน ร่วงกันระเนระนาด แต่ตลาดหุ้นไทยกลับปรับตัวลงน้อยมาก
ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์คืนวันจันทร์ที่ผ่านมา ทรุดฮวบลงกว่า 1276 จุด หรือ 3.94% ดัชนีแนสแดคลงกว่า 5% ยุโรปรูดลงถ้วนหน้าเฉลี่ย 1% เศษ ขณะที่หุ้นเพื่อนบ้านย่านเอเชีย หลายตลาดทรุดลงกว่า 2%
แต่ดัชนีหุ้นไทยลบเพียง 4.51 จุด หรือลดลง 0.27% ปิดที่ 1,656.58 จุด
นักลงทุนรายย่อยซึ่งเพิ่งเทขายหุ้นทำกำไร ในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นก่อนหน้า กลายเป็นพระเอกช่วยพยุงดัชนีไม่ให้ผันผวนรุนแรง โดยเป็นผู้ซื้อหุ้นรายใหญ่ 3,008 ล้านบาท ขณะที่พอร์ตโบรกเกอร์เป็นกองหนุน ซื้อหุ้นสุทธิ 967 ล้านบาท
ส่วนนักลงทุนสถาบันขายหุ้น 2,752 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ขาย 1,223 ล้านบาท
ปีนี้นักลงทุนรายย่อยมักเข้ามาช้อนซื้อหุ้น ในจังหวะที่ตลาดปรับตัวลง และเป็นการตัดสินใจที่ถูก เพราะซื้อหุ้นเก็บไม่ทันเท่าไหร่ ตลาดก็ฟื้นตัวขึ้น จึงเป็นโอกาสขายทำกำไร
แต่หลังจากทยอยขายทำกำไร กำเงินสดไว้ไม่นานนัก หุ้นก็ปรับตัวลงมาใหม่ เปิดโอกาสให้รายย่อยซื้ออีก เช่นเดียวกับความผันผวนของตลาดหุ้นในครั้งนี้
รายย่อยเพิ่งขายหุ้นออกหมาดๆ เงินจากผลกำไรยังอุ่นๆ หุ้นก็ปรับฐานแรง ลงมาให้ช้อนซื้ออีกแล้ว
ระหว่างชั่วโมงซื้อขายเมื่อวันพุธ ซึ่งดัชนีฯ ร่วงไปประมาณ 17 จุด แมลงเม่าพร้อมใจกันไล่ช้อนหุ้นกันอุตลุด จนดัชนีที่หลุดจากแนวรับ 1,650 จุด ดีดตัวขึ้นปิดเหนือ 1,650 จุดอีกครั้ง
ต้องถือว่ารายย่อยใจกล้ามาก กล้าสวนหมัดกองทุนที่ขายหุ้นออกในรูปสถาบันและต่างชาติ กล้าซื้อในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน และมีความเสี่ยงสูง
แต่รายย่อยจะเก่งอีกครั้งหรือไม่ เวลาเป็นเครื่องตัดสิน
การปรับฐานครั้งใหญ่ของตลาดหุ้นทั่วโลก หลังจากสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมสูงกว่าความคาดหมาย จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น หรือปรับฐานยาวต้องรอดูกันต่อไป
แต่ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 1% ในกลางสัปดาห์หน้า ผลกระทบกับตลาดหุ้นอาจยืดเยื้อ เพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะตามมา เงินทุนต่างชาติที่ไหลกลับเข้าตลาดหุ้นนับจากต้นปีอาจไหลออกอีกครั้ง เนื่องจากความกังวลในความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การอ่อนตัวของค่าเงินบาท และอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างระหว่างไทยกับสหรัฐฯ
ถ้าตลาดหุ้นปรับฐานในช่วงสั้น นักลงทุนรายย่อยคงรวยกันอีกรอบ แต่ถ้าการปรับฐานยืดเยื้อ รายย่อยจะต้องแบกหุ้นต้นทุนสูง และเสียจังหวะการลงทุน
เพราะรีบไปหน่อย ตัดสินใจเร็วไปนิด เข้าช้อนซื้อหุ้นท่ามกลางตลาดหุ้นขาลง แทนที่จะรอคอยเพื่อประเมินทิศทางตลาด ซึ่งอาจมีโอกาสซื้อหุ้นในราคาที่ถูกกว่า
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรายย่อยวางกลยุทธ์ถูกมาตลอด หุ้นลงก็แห่เข้าไปซื้อ หุ้นขึ้นก็พร้อมใจกันขาย
แต่ถ้าฝรั่งหันมาเทขายหุ้น กองทุนขายผสมโรงด้วย และเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 1% ตามที่นักวิเคราะห์กังวล
รอบนี้รายย่อยอาจพลาด เพราะหุ้นที่ช้อนเก็บกันเข้าไปราคาระดับยอดดอยแทบทั้งสิ้น และมีสิทธิที่รายย่อยจะติดยอดดอย