โบรกเกอร์ เปิดโผ 8 หุ้นเสี่ยงทำต่างชาติขายออก จากก่อนหน้าซื้อต่อเนื่อง ขณะที่ ระบุ 4 ปัจจัยลบกดดัน Fund Flow ไหลออก ทั้งเฟดเตรียมใช้นโยบายเข้มสกัดเงินเฟ้อ - บาทอ่อนค่า - ราคาสินค้าจ่อลง และความกังวลเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ด้านหุ้นไทยสัปดาห์นี้ ย่อตัว คาดกรอบดัชนีฯ ระหว่าง 1,600-1,650 จุด แนะนำถือเงินสด 10 – 20%
KTBST เปิดโผ 8 หุ้นเสี่ยงต่างชาติขาย
บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรอบดัชนีฯ สัปดาห์นี้ (13-17 มิ.ย.) อยู๋่ที่ 1,600-1,650 จุด (สัปดาห์ที่ผ่านมา 1,632.62 จุด / -0.91%) โดยประเมินว่าตลาดหุ้นวันแรกอาจปรับตัวลงมาก เพราะตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯที่สูงมาก และเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในครั้งนี้ (เดิมคาด 0.50%) และเหวี่ยงแรงอีกครั้งหลังทราบผลประชุมในวันพฤหัส(16 มิ.ย.65)
ทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องจับตาคือประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเดินหน้าแก้ปัญหาเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันที่สูง ซึ่งอาจเป็นลบต่อหุ้นน้ำมัน รวมถึงสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ที่ยังดูอึมครึม และการเจรจาล้มเหลว กระทบเศรษฐกิจโลก ขณะที่จีนมีการล็อกดาวน์บางเมือง อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ การเปิดเมืองน่าจะช้าออกไป กลับมากดดันตลาดอีกครั้ง กระทบต่อหุ้นส่งออก-เดินเรือ
โดยหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติซื้อเข้ามามาก จะเสี่ยงจากการถูกขาย อาทิ PTTEP KBANK ADVANC BH CPALL BDMS SCB BBL
ASPS ระบุ 4 ปัจจัยกดดันเงินไหลออก แนะถือเงินสด 10-20%
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (ASPS) เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์รายวันว่า ในเดือน มิ.ย. เป็นช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะใช้นโยบายตึงตัวแบบ New Normal ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุลกดดันเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลออกจากตลาดหุ้นไทย 6 ใน 7 วันทำการ ซึ่งล่าสุดขายสุทธิไปแล้ว 9.3 พันล้านบาท (mtd) ถือเป็นการไหลออกเดือนแรกของปี 65 และเห็น Momentum ในการไหลออกมากขึ้น
ทั้งนี้ 4 ปัจจัยกดดัน Fund Flow ไหลออก ประกอบด้วย
1. ตลาดคาดเฟดมีโอกาสใช้นโยบายการเงินเข้มข้นขึ้น ส่งผลให้ Spread ดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐกว้างขึ้น อาจส่งผลให้กนง. มีโอกาสปรับดอกเบี้ยตามขึ้นไปเพื่อสกัดค่าเงินบาทอ่อนและเงินเฟ้อ การเร่งขึ้นดอกเบี้ยถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่กดดันตลาดเนื่องจากตามกลไกหาก กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% กดดันเป้าหมาย SET ลง 88 จุด เหลือ 1722 จุด และขึ้นดอกเบี้ย 0.75% กดดันเป้าหมาย SET ลง 240 จุด 1570 จุด
2. ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อกดดันให้ต่างชาติมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น หาก Spread ดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐกว้างขึ้น กดดันเม็ดเงินไหลกลับไปสู่ตราสารหนี้หรือสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า กดดันให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อ จากล่าสุดอ่อนค่าขึ้นมาอยู่ที่ 34.84 บาท/เหรียญ เกือบสูงสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือน
3. การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเพื่อสกัดสินค้าราคาแพง ณ ปัจจุบัน อาจส่งผลให้ราคา Commodity ต่างๆ ทยอยย่อตัวลง แต่ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนหุ้นที่อิงกับราคา Commodity ถึง 1 ใน 3 ส่วน อาจกดดันให้ Fund Flow ที่เคยไหลเข้าหุ้นพวกนี้ชะลอลง
และ 4. ความกังวลเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วง Recession เริ่มเห็นโอกาสเกิด Inverted Yield Curve เพิ่มขึ้น โดยล่าสุด Bond Yield สหรัฐระยะสั้น เร่งขึ้นมาเร็วจน Bond Yield 5 ปี ขึ้นแซง 30 ปี และ Bond Yield 2 ปี 3.06% เพิ่มเข้าใกล้ 10 ปี 3.16% (ห่างกันเพียง 10 bps.) ซึ่งเวลาเกิด Inverted Yield Curve ทีไร Fund Flow มักจะไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง และตลาดหุ้นไทยเสมอ
โดยปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาถือเป็นความเสี่ยงที่ Fund Flow มีโอกาสขายทำกำไรหุ้นไทยในบางช่วงเวลา และมีโอกาสพลิกกลับมาไหลออกเมื่อเทียบกับการไหลเข้าในช่วงต้นๆของปี กลยุทธ์การลงทุนแนะนำถือเงินสด 10 – 20% ส่วนเงินลงทุนแนะนำหุ้นที่มีเกราะป้องกันดอกเบี้ยขาขึ้นอย่าง BLA (ได้แรงหนุนจาก Bond Yield ขยับขึ้นเร็ว) และหุ้นเมืองผันผวนต่ำอย่าง BH (ได้ประโยชน์บาทอ่อน), BEM (ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ)