วงการเชื่อเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงในการประชุมครั้งล่าสุดและเดือนหน้า ฉุดตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน ขณะที่ตลาดหุ้นไทยกูรูแนะรอราคาหุ้นอ่อนตัวเป็นจังหวะให้เข้าสะสมกลุ่มหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ที่น่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายไตรมาส 3 รวมถึงกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทอ่อนค่า พร้อมให้ติดตามกลุ่มหุ้นที่ฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ เชื่อจะหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว หลัง 5 เดือนแรกปีนี้เม็ดเงินต่างประเทศไหลเข้าต่อเนื่อง
เมื่อคืนวันที่ 11 มิ.ย. ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทรุดตัวลงกว่า 800 จุด หลังสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงเกินคาด ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้าเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ การซื้อขายในตลาดยังได้รับผลกระทบ หลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ดิ่งลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ
ภาพรวมดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 1.9% นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ และมีแนวโน้มปรับตัวลง 10 ใน 11 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ดิ่งลงมากกว่า 2% นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ และมีแนวโน้มปรับตัวลง 9 ใน 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันอีกปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นวอลล์สตรีทคือ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีซึ่งถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง เพราะหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่างๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ และจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
คาดเฟดปรับขึ้นดบ.แรง 0.75%
ทั้งนี้ มีรายงานว่าเฟดอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่คาดไว้ หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ทั้งในเดือน มิ.ย. และ ก.ค. อย่างไรตามนักลงทุนบางส่วนเชื่อว่าในการประชุมเฟดวันที่ 14-15 มิ.ย. นี้ เฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. และจะเป็นระดับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ต่อเนื่องไปจนถึงการประชุมเฟดในวันที่ 26-27 ก.ค. เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 19%
ก่อนหน้านี้ เฟดได้เริ่มต้นวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน มี.ค. ก่อนที่จะปรับขึ้น 0.50% ในเดือน พ.ค. ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ทั้งในเดือน มิ.ย.และ ก.ค. ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดครั้งใหม่ในรอบกว่า 40 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2524 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3%
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาปิดทำการซื้อขายวันที่ 10 มิ.ย. ปรับตัวลดลง -8.72 จุด หรือ -0.53% ปิดที่ 1,632.62 จุด มูลค่าการซื้อขาย 5.96 หมื่นล้านบาท โดยนักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิกว่า 4.07 พันล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิกว่า 3.86 พันล้านบาท ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตาม Sentiment การลงทุนต่างประเทศ หลังความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆพิจารณาใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงเวลาต่อจากนี้จะมีการประชุมของธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศ ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ได้มีการมีมติคงอัตราดอกเบี้ย แต่เสียงแตกโดยมี 4 เสียงเห็นคงอัตราดอกเบี้ยและ 3 เสียงเห็นควรขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เป็นโอกาสที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดได้
เงินบาทอ่อนค่ารับบอนด์ยีลด์ปรับตัว
ด้านความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ศูนย์วิจัยกสิกรฯ รายงานว่า ค่าเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ หลังขยับแข็งค่าช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามสกุลเงินเอเชีย นำโดย เงินหยวนซึ่งได้รับอานิสงส์จากความหวังว่าแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนน่าจะทยอยคลายตัวลงในระยะข้างหน้าหลังเริ่มคลายล็อกดาวน์อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกอ่อนค่าในช่วงต่อมาสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ โดยเฉพาะบอนด์ยิลด์อายุ 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นเหนือ 3.00% รับโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดในช่วงครึ่งปีหลัง
ภาพรวมการเคลื่อนไหวเงินบาทในระหว่างสัปดาห์ยังไม่ได้รับแรงหนุนมากนัก แม้ผลการประชุม กนง. สะท้อนสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หลังมองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น พร้อมๆ กับความเสี่ยงของการขยับสูงขึ้นของเงินเฟ้อ โดยในวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย. เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 34.35 บาทต่อดอลลาร์ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (2 มิ.ย.)
5 เดือนแรกเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้า
สำหรับ ตลาดหุ้นไทยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาของปี 2565 “ศรพล ตุลยะเสถียร” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ใน 5 เดือนแรกปี 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติย้ายเงินทุนกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมากเนื่องจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนตัว อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังภาครัฐดำเนินนโยบายเปิดประเทศ อย่างไรก็ดี ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 SET Index ปิดที่ 1,663.41 จุด ปรับลดลง 0.2% จากเดือนก่อนหน้า แต่เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 SET Index ยังปรับเพิ่มขึ้น 0.3% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค
ทั้งนี้ SET Index ใน 5 เดือนแรกปี 2565 ได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมือง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 9.06 หมื่นล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติกลับมาสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ระดับ 47.49% ของมูลค่าการซื้อขายรวม ทั้งนี้ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยในเดือนพฤษภาคม 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2.09 หมื่นล้านบาท ทำให้ใน 5 เดือนแรกปี 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 1.39 แสนล้านบาท
ส่วน Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 17.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.1 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 18.5 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.9 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 2.69% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.64%
คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ยปลาย ก.ย.
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย แสดงมุมมองถึงกรณีผลประชุม กนง. เสียงแตก มติ 4 ต่อ 3 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ว่า สาระสำคัญจากการประชุมครั้งนี้ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง จากแรงหนุนของอุปสงค์ในประเทศ และการท่องเที่ยวที่ฟื้นเร็ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่าคาดและยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายมีความจำเป็นน้อยลง ส่งผลให้ บล.หยวนต้ามีมุมมองทางเศรษฐกิจ ว่าปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.3% จาก 3.2%เนื่องจากประการแรก การบริโภคภาคเอกชนขึ้นเป็น 4.9% จาก 4.3% ประการที่สอง การลงทุนภาคเอกชนขึ้นเป็น 5.4% จาก 4.7% และสุดท้าย การส่งออกสินค้าและบริการขึ้นเป็น 7.1% จาก 6.3% รวมทั้งปรับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเป็น 6.0 ล้านคน จาก 5.6 ล้านคน
ส่วน GDP ปี 2566 ปรับลงเหลือ 4.2% จาก 4.4% เพราะภาคส่งออกถูกกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกว่าคาด และต้นทุนค่าครองชีพที่มีโอกาสทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากปีนี้ส่วนด้านอัตราเงินเฟ้อ ปี 2565 ปรับเพิ่มเป็น 6.2% จาก 4.9% ตามราคาพลังงานโลกและต้นทุนการผลิตที่ยังเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าเงินเฟ้อจะถึงจุด Peak ในไตรมาส 3/65 ก่อนจะอ่อนตัวลงในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ และเหลือ 2.5% ในปี 2566
ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ บล.หยวนต้า ประเมินว่า พิจารณาได้โดย อิง 3 ปัจจัย คือด้านเศรษฐกิจในประเทศ หากฟื้นตัวเร็วกว่าคาด อาจขึ้นดอกเบี้ยทันทีในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 10 ส.ค. ประการที่สองด้านระยะเวลา อาจรอดูข้อมูลให้รอบด้าน โดยเฉพาะ GDP ไตรมาส 2/65 ของสภาพัฒน์ ที่จะประกาศกลางเดือน ส.ค. ก่อน เพราะฉะนั้น การขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วคือ 28 ก.ย. และสุดท้ายคือผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจเพิ่มภาระให้กับประชาชนบางกลุ่ม
ดังนั้นในมุมมองของ บล.หยวนต้า จะให้น้ำหนักกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท รวมถึงระดับทุนสำรองที่ลดระดับลงต่อเนื่องด้วย เพราะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายของกระแสเงินทุน ที่จะส่งผลต่อเนื่องไปยังดุลการชำระเงิน ซึ่งถ้าอิงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯ ในอดีตที่ห่างกันไม่เกิน 2.00% และคาดการณ์ดอกเบี้ยปลายปีของเฟดที่ 2.75-3.00% ทำให้ยังคงมุมมองเดิมว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง สำหรับการประชุมรอบเดือน ก.ย. หรือ พ.ย. 2565 เพื่อรักษาส่วนต่างไม่ให้กว้างเกินไป
ทำให้สรุปได้ว่าผลประชุม กนง. ครั้งล่าสุดให้ข้อมูลที่ชัดมากว่าจบรอบดอกเบี้ยขาลง แต่ปัจจัยที่ต้องติดตามคือจังหวะเวลาที่เหมาะสม และความเป็นอิสระของ กนง.ในการขึ้นดอกเบี้ย, ผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนที่สูง 90% ของ GDP ซึ่ง กนง. ประเมินแล้วว่าการขึ้นดอกเบี้ยทุก 1% คิดเป็นภาระ 0.5% ของรายได้ครัวเรือน น้อยกว่าการปล่อยให้เงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูงไปเรื่อยๆ ซึ่งกระทบ 3.6% ของรายได้ครัวเรือน ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3/65 จะฟื้นเทียบปีก่อน จากฐานที่ต่ำ และไตรมาส 4/65 จะได้แรงหนุนจาก High Season ของภาคท่องเที่ยว
เพิ่มน้ำหนักกลุ่มรับอานิสงส์ดอกเบี้ย ขาขึ้น
สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงมองเป็นกลางต่อ SET Index ส่วนค่าเงินบาท และ Bond Yield ในประเทศ คาดว่าจะไปอิงกับการเคลื่อนไหวของ Dollar Index และ Bond Yield สหรัฐฯมากกว่า นำไปสู่การเพิ่มน้ำหนักให้กลุ่มที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นได้ดีคือ ธนาคารพาณิชย์, ประกัน, ค้าปลีก,ท่องเที่ยว, อาหารเครื่องดื่ม, การแพทย์, และบริษัทที่มีฐานะทางการเงินเป็น Net Cash ส่วนกลุ่มที่ราคาหุ้นมักเคลื่อนไหวผกผันกับดอกเบี้ย คือ ไฟแนนซ์, โรงไฟฟ้า, อสังหาริมทรัพย์, และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่คาด Downside ไม่มาก เพราะราคาหุ้นกลุ่มเหล่านี้ มีการปรับฐานลงมารอแล้วระดับหนึ่ง นำไปสู่หุ้นแนะนำใน Theme ดอกเบี้ยขาขึ้น คือ KBANK, BBL, BLA, MAKRO,CPALL, TU, MINT, M MAJOR,
ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มแบงก์ที่อาจจำเป็นต้องช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการของ ธปท. ต่อไปนั้นคาดว่าผลกระทบจำกัดมาก เพราะมุมมองของ กนง. ต้องการให้ช่วยกลุ่มเปราะบางแบบตรงจุด มากกว่าช่วยเหลือในวงกว้างเหมือนช่วงโควิด-19 ระบาด
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า ภายหลังกระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค. 2565 อยู่ที่ 7.1% สูงสุดในรอบ 13 ปี มีแนวโน้มยังสูงต่อเนื่องเดือน มิ.ย. 2565 สร้างแรงกดดันต่อ กนง. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ระดับต่ำเพียง 0.5% ทำให้คาดว่า กนง.มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยช่วงปลายไตรมาส 3/65 หรือต้นไตรมาส 4/65 โดยหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามกลไกจะกดดันให้ P/E ตลาดลดลง 0.99 เท่า กดดันดัชนีเป้าหมายลดลง 88 จุด จากเดิมที่กำหนดเป้าหมายดัชนีปี 2565 ไว้ที่ 1,810 จุด
โดยสำหรับหุ้นไทยที่ไม่ได้รับผลกระทบเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น ได้แก่ กลุ่มโภคภัณฑ์ เช่น CPF, TFG, GFPT, NER, KSL, PTTEP, PTT, TOP, กลุ่มธนาคารพาณิชย์และประกัน ได้แก่ KBANK, SCB, BBL, BLA กลุ่มปันผลสูง ได้แก่ AP, TISCO, SCC, ADVANC กลุ่มส่งออก ได้แก่ HANA, SVI, DELTA, KCE, TU, SAT, AH ส่วนหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อขยายตัวและดอกเบี้ยขาขึ้น ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก เช่น CPALL, CRC, COM7, SPVI, HMPRO, DOHOME กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ SPALI, LH และกลุ่มเช่าซื้อ ได้แก่ MTC, TIDLOR, SAWAD
อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อพื้นฐานไทยแม้จะสูงกว่าคาด แต่ยังไม่ถึงขั้นน่ากังวล จึงคาด กนง. ยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย โดยคาดอาจพิจารณาปรับขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3/65 ดังนั้น ประเมินว่าท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อคาดกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันที่ราคาปรับขึ้นตามเงินเฟ้อ รองลงมา คือ กลุ่มธนาคารที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น โดยหุ้นเด่นแนะนำในกลุ่ม สินค้าโภคภัณฑ์ แนะนำ IVLส่วนกลุ่มธนาคาร แนะนำ SCB, TTB
ด้าน “อดิศร เสริมชัยวงศ์” กรรมการผู้จัดการ TMBAM Eastspting และ Thanachart Fund Eastspring แสดงความเห็นถึง ภาพการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง ว่าจะยังมีปัจจัยกดดันสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ ส่งผลให้เกิดความผันผวนค่อนข้างสูงหลังจากนี้ เพราะโดยส่วนตัวยังเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังเร่งตัวสูงขึ้นและกดดันให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องต่อไป นอกจากนั้น ยังพบว่าในช่วงที่ผ่านมา GDP สหรัฐฯติดลบ ส่งผลให้โอกาสการเกิด Recession นั้นเป็นไปได้มากขึ้น
โดยขณะนี้แม้จะยังมองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง การลงทุนยังมีความผันผวนอยู่และมีโอกาสเกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ประกอบกับยังมีปัจจัยที่กดดันการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด การล็อกดาวน์ในจีน และยุโรปคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ปัจจัยเหล่านี้ตลาดรับข่าวไปมากแล้ว ซึ่งทางบริษัทเริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีพื้นฐาน
หุ้นกลุ่มเปิดประเทศไม่ควรมองข้าม
เริ่มที่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น บริษัทมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นโลก หุ้นเอเชียและหุ้นในประเทศ เพราะต่างมีปัจจัยเฉพาะตัวโดดเด่น รวมถึงกลุ่มประเทศชายขอบ (Frontier) อย่างเช่น ในตลาดหุ้นเวียดนาม จะพบว่ามีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐอย่างมีนัย รวมถึงผลกระทบจากการคลายล็อกดาวน์ในจีนที่เริ่มลดลงและเชื่อว่าจะได้รับแรงส่งจากการเปิดประเทศจะเป็นปัจจัยหนุนในระยะต่อจากนี้ ส่วนตลาดหุ้นไทย เนื่องจากเรามีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงคาดว่าจะได้รับผลบวกจากการเปิดประเทศสูง รวมถึงการที่ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นซึ่งในตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนที่เป็นกลุ่มพลังงานในสัดส่วนที่สูงทำให้อาจได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ไปด้วย
สำหรับสินทรัพย์ตราสารหนี้ ยังให้น้ำหนักบวกกับตราสารหนี้โลกชั้นดี (Investment Grade) เนื่องจากมองว่าผลตอบแทนจะคุ้มค่าความเสี่ยงมากกว่า ประกอบกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดตราสารหนี้ แต่ในแง่หนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้ผลตอบแทนที่จะได้รับปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
ขณะที่สินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็มองว่าในระยะนี้มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก เพราะถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงของรายได้และเป็นธุรกิจที่ผูกขาด ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ดีในการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนั้นยังเชื่อว่าการเปิดเมืองช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อย่าง REIT ในกลุ่มต่างๆ ทั้งค้าปลีก, ออฟฟิศ, อุตสาหกรรม และโรงแรม ด้วยเช่นกัน
รอราคาอ่อนตัวจึงเข้าลงทุน
ส่วนมุมมองโดยรวมของนักวิเคราะห์บางกลุ่มที่มีต่อตลาดหุ้นไทยเชื่อว่า การที่ SET Index ปรับขึ้นมาเคลื่อนไหวบริเวณ 1,650 จุดนั้นมีแรงหนุนจากความคาดหวังเชิงบวกจากเฟดไม่น่าจะเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงหลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ขณะเดียวกันสถานการณ์ในต่างประเทศ จีนเตรียมมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและเริ่มคลายล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่ 1 มิ.ย. รวมทั้งยังมีแรงซื้อหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นหลังอียูลงมติคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย และหุ้นเปิดเมืองหลังไทยคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่อง ช่วยหนุนให้มี Fund Flow ไหลเข้าในตลาดหุ้นไทย โดยตั้งแต่ 17-31 พ.ค. นักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่ามองตลาดได้สะท้อนแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปพอสมควรแล้ว โดยในระยะสั้นความเสี่ยงของเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูง โดยตัวเลขเศรษฐกิจในช่วง มิ.ย. ถึงสิ้นปีนี้ จะอยู่ในแนวโน้มชะลอตัวลงจากวิกฤตราคาพลังงานและอาหารที่ยังปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาด้านอุปทานที่ตึงตัว ทำให้ยังมอง SET มี Upside จำกัด
ทำให้การลงทุนในช่วงนี้ ควรรอให้ราคาหุ้นเกิดการอ่อนตัว และใช้เป็นโอกาสในการเข้าซื้อสะสม โดยเฉพาะเมื่อ SET Index อยู่ต่ำกว่าระดับ 1,620 จุด ส่วนกลุ่มหุ้นที่ปลอดภัยและมีคุณภาพดีไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อ ได้แก่กลุ่มหุ้นที่กำไรมีโมเมนตัมดี หรือฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา รวมไปถึงกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในทิศทางขาขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มหุ้นที่ได้อานิสงส์จากบาทอ่อน หรือวิกฤตราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่กลุ่มหุ้นที่ควรเพิ่มความระมัดระวังการลงทุน ได้แก่ หุ้นที่คาดผลประกอบการจะถูกกดดันจากมีสินค้าเกษตรเป็นต้นทุนวัตถุดิบหลัก และหุ้นที่ถูกกดดันจากมีต้นทุนการผลิตเกี่ยวกับเชื้อเพลิงพลังงาน
“ธีรดา ชาญยิ่งยงค์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แสดงความเห็นว่าแนวโน้มตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ คาดดัชนีจะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ การปรับตัวขึ้นคงไม่แรง เนื่องจากยังต้องติดตามผลการประชุมของธนาคารต่างๆ ที่จะออกมา รวมถึงรอดูการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน พ.ค.ของสหรัฐฯ ทำให้มองว่าการปรับตัวลดลงจะไม่มากนัก เนื่องจากยังมีกลุ่มหุ้นที่ได้รับประโยชน์การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 และการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ พร้อมประเมินกรอบการลงทุนแนวต้านที่ 1,650 จุด และแนวรับที่ 1,610 จุด และ 1,600 จุด
ด้าน บล.กสิกรไทย จำกัด คาดกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า (13-17 มิ.ย.65) มีแนวรับอยู่ที่ 1,620 และ 1,600 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,665 จุด ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (14-15 มิ.ย.) สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงการประชุม ศบค. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านใหม่ และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOE และ BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน พ.ค.ของยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือน พ.ค. อาทิ ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์จากความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยที่เร่งตัวสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และย่อตัวลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังล่าสุด ธนาคารกลางชั้นนำอีก 1 แห่งคือ ECB ส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงิน ทำให้หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนหลักจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์ หลัง กนง. มีมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% ซึ่งสะท้อนโอกาสของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระยะข้างหน้า.