ตลาดหุ้นเอเชียเปิดขยับขึ้นตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดบวกในวันอังคาร (7 มิ.ย.) รวมถึงยังได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำกว่า 3%
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 28,100.26 จุด เพิ่มขึ้น 156.31 จุด หรือ +0.56%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 21,788.89 จุด เพิ่มขึ้น 257.22 จุด หรือ +1.19% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,245.02 จุด เพิ่มขึ้น 3.26 จุด หรือ +0.10%
การซื้อขายในภูมิภาคได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ร่วงลงสู่ระดับ 2.963% เมื่อคืนนี้ โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้นจะทำให้บริษัทต่างๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
ตลาดยังจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน พ.ค.ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์จากบริษัทเนชันแนล ซิเคียวริตีส์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะเพิ่มขึ้น 8.2% ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือน เม.ย.ที่ขยายตัว 8.3%
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 14-15 มิ.ย. โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว รวมทั้งในการประชุมเดือน ก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจในภูมิภาคที่รายงานไปแล้วนั้น ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOJ) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2565 ขยายตัว 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งน้อยกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่ามีการขยายตัว 0.7% โดยเมื่อเทียบเป็นรายปี ตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ของเกาหลีใต้ขยายตัว 3.0% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าขยายตัว 3.1%
ทางด้านญี่ปุ่นปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2565 โดยระบุว่า GDP หดตัวลง 0.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่า GDP หดตัวลงถึง 1.0% เนื่องจากการอุปโภคบริโภคยังคงฟื้นตัว แม้ญี่ปุ่นเผชิญกับการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19
นักลงทุนยังจับตาดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของออสเตรเลีย ประจำเดือน พ.ค.จากเนชันแนล ออสเตรเลีย แบงก์ (NAB) และการประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอินเดียในวันนี้