ธปท.เล็งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ประคองเศรษฐกิจไทยโตตามคาด 3.3% เตรียมออกมาตรการการเงินช่วยผู้มีรายได้น้อย เอสเอ็มอี ลดผลกระทบค่าใช้จ่าย ต้นทุนการผลิตพุ่งสูง
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ของ ธปท.ในขณะนี้คือ การปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ แตะเบรกในขนาด และเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงในขณะนี้ ซึ่งมีผลกระทบต้นทุนการผลิต และการใช้จ่ายของประชาชน แต่เศรษฐกิจไทยยังคงเริ่มเทกออฟ หรือฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนไม่สะดุด
อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้างและส่งผลกระทบต้นทุนของภาคธุรกิจ และตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อ โดยคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลาง 5 ปียังอยู่ในกรอบเงินเฟ้อ 1-3% โดยการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อขณะนี้ยังอยู่ในส่วนของต้นทุนราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือฝั่งอุปทานมากกว่าฝั่งการใช้จ่ายที่สูง หรือเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป ธปท.จึงต้องดูแลแรงกดันเงินเฟ้อไม่ให้เกิดในด้านอุปสงค์ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินได้พิจารณาแล้วว่า การขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีแรงส่งของการฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศและการเร่งตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะไม่กระทบรุนแรงให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมากเกินไป
“การประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 3.3% และการขยายตัว 4.2% ในปีหน้านั้น ธปท.ได้รวมปัจจัยลบที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ไว้แล้ว โดยขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มีความยืดหยุ่น ยึดข้อมูลที่แท้จริงทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นหลัก และสิ่งที่กำลังทำคือการส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ และมองชัดถึงการยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลาง ซึ่งจริงๆ แล้วเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากฝั่งราคาสินค้า เช่น น้ำมัน ตามธรรมชาติจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะราคาที่สูงขึ้นมากๆ เมื่อผ่านไประยะหนึ่งจะทำให้รายได้ที่แท้จริงและความสามารถใช้จ่ายของคนลดลง และชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจลงด้วยตัวเองอยู่แล้ว การขึ้นดอกเบี้ยเป็นเพียงตัวช่วย หรือเป็นกันชนเพิ่มว่าจะเศรษฐกิจจะไปในทางนั้น ซึ่งตลาดได้คาดการณ์ และปรับตัวดอกเบี้ยแล้วผ่านอัตราผลตอบแทนตลาดพันธบัตรในประเทศที่สูงขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับตลาดการเงินในระยะต่อไป”
นายปิติ กล่าวต่อว่า ธปท.ไม่ได้กังวลส่วนต่างดอกเบี้ยของประเทศพัฒนาแล้วกับไทยที่แตกต่างกัน เนื่องจากเห็นการไหลออกของเงินทุนไม่ได้สูงมากนัก ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าลงกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้านำเข้า เช่นน้ำมัน และส่งผลกระทบเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อนั้น ธปท.ติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิด โดยปัจจัยหลักมาจากการเข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และหากมองระยะยาวทะลุปีนี้ไป ซึ่งการฟื้นตัวของสหรัฐฯ อาจจะเริ่มชะลอ ซึ่งค่าเงินบาทอาจจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้านั้น แรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวหลังโควิด-19 คลี่คลาย และการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่ง ธปท.ปรับเพิ่มประมาณการปีนี้เป็น 6 ล้านคน จาก 5.6 ล้านคนในครั้งก่อน โดยการส่งออกนั้นแม้จะยังขยายตัวต่อเนื่องแต่จะชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอลง
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อนั้น ธปท.ปรับเพิ่มประมาณการเป็น 6.9% ทั้งปี โดยคาดว่าจะสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และลดลงในไตรมาส 4 ปีนี้ และไตรมาสที่ 1 ปีหน้า ก่อนกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ในช่วงกลางปีหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นได้จาก 3 เรื่อง คือ ราคาน้ำมันดิบโลกสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ การส่งผ่านต้นทุนสู่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมากและเร็วกว่าที่คาด สุดท้ายคือ การฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศหลังโควิดคลี่คลายดีกว่าที่คาด
“ในส่วนการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น เร็วๆ นี้ ธปท.จะมีการออกชุดมาตรการทางการเงินชุดใหม่เพิ่มเติมออกมา โดยเน้นให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางมากขึ้น เช่น เอสเอ็มอี ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือในส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน โดยจะเป็นการเพิ่มมาตรการให้ปฏิบัติจริงได้มากขึ้น และตรงจุดเพิ่มขึ้น”
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวนโยบายที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.นั้น ธปท.ได้มีพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ หลัง ธปท.มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยพบว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือดอกเบี้ยลบเงินเฟ้อในขณะนี้อยู่ที่ติดลบ 3.5% การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ผู้ฝากจะได้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น
ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้นั้น เท่าที่พิจารณาพบว่า ธนาคารพาณิชย์มีกันชนในส่วนนี้อยู่ เช่น ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปเท่าไร ถึงจะมีการขยับขึ้นดอกเบี้ยในส่วนของธนาคารพาณิชย์ จึงคิดว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงที่จะทำให้เศรษฐกิจสะดุด ซึ่ง ธปท.คงต้องหารือกับธนาคารพาณิชย์ต่อไป นอกจากนั้น ในส่วนของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง 5% เมื่อเทียบกับต้นปีนั้น การขึ้นดอกเบี้ยช่วยลดความผันผวนของเงินบาทลงได้