คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 8 มิถุนายน 2565 มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยกรรมการเสียงข้างน้อย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง และมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้จากอุปสงค์ในประเทศ และแรงส่งจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน และการส่งผ่านต้นทุนที่มากและนานกว่าคาด มองไปข้างหน้า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง
"เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ โดยจะติดตามพัฒนาการของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ส่วนกรรมการ 3 ท่านเห็นว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนเพียงพอที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้" นายปิติ ระบุ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวในปี 2565 ที่ 3.3% และปี 2566 ขยายตัว 4.2% จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดมาก โดยเฉพาะในหมวดบริการ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศที่เร็วขึ้น นอกจากนี้ ตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนมีสัญญาณปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยจำกัด อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยเฉพาะผลกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อการบริโภคภาคเอกชน
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.2% และปี 2566 อยู่ที่ 2.5% โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี 2565 ตามราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้น และกระจายตัวในหมวดสินค้าหลากหลายขึ้น แต่ประเมินว่ายังเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา
"อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีความเสี่ยงมากขึ้นจากราคาน้ำมันโลกที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ การส่งผ่านต้นทุนที่อาจมากและเร็วกว่าคาด และแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อและการส่งผ่านต้นทุน รวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางอย่างใกล้ชิด" นายปิติ ระบุ
เลขานุการ กนง.กล่าวว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่มยังเปราะบางโดยรายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง จึงอาจมีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดสำหรับกลุ่มเปราะบาง
ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย แต่มีความผันผวนมากขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ปรับอ่อนค่าลงสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการและความผันผวนในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้น จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบัน จะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า
"คณะกรรมการฯ จะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป" นายปิติ ระบุ