xs
xsm
sm
md
lg

krungthai GLOBAL MARKETS เผยเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ 34.37 มีโอกาสแข็งค่าเล็กน้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.37 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.31 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ สิ้นวันที่ 2 มิถุนายน) โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.45 บาท/ดอลลาร์ สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโดยรวมยังคงผันผวนจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินฝั่งเอเชียยังคงได้แรงหนุนจากแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าตลาดจะรอติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และติดตามแนวโน้มเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 34.10-34.50 บาท/ดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงในฝั่งเอเชีย หลังทางการจีนเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการ Lockdown นอกจากนี้ ผลการประชุม กนง. อาจช่วยหนุนเงินบาทได้บ้าง หากตลาดยังคงเชื่อว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว ทั้งนี้ เรามองว่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก เพราะผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมเฟด โดยเฉพาะ Dot Plot ใหม่ในการประชุมเฟดเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราประเมินว่าเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด กดดันให้ผู้เล่นในตลาดกังวลโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง อย่างไรก็ดี ควรจับตาท่าทีของ ECB ต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะหาก ECB ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยสามารถหนุนให้เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้น และกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งความเสี่ยงสงคราม ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีน และความกังวลเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินเฟด เราแนะนำว่าผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย เช่น Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ - ตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนพฤษภาคมอาจเร่งขึ้น 0.8% จากเดือนก่อนหน้า (+8.3%y/y) หนุนโดยการเร่งขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงราคาสินค้าในภาคการบริการและค่าเช่าบ้านที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการเร่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอย่างต่อเนื่องอาจสะท้อนว่า เฟดยังมีโอกาสเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง หรือ เฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนกันยายน รวมถึงการประชุมหลังจากนั้นได้ ซึ่งความไม่แน่นอนของทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเฟดอาจกดดันให้ตลาดการเงินผันผวนมากขึ้นได้ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจมีความชัดเจนมากขึ้นหลังเฟดเปิดเผย Dot Plot ใหม่ในการประชุมเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ อนึ่ง ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจากปัญหาเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะกดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนมิถุนายน ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 58 จุด จาก 58.4 จุด ในเดือนก่อนหน้า

ฝั่งยุโรป - ตลาดคาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อยูโรโซนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียล่าสุดจะหนุนโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับประมาณการเงินเฟ้อใหม่สูงขึ้นพอสมควรในการประชุม ECB สัปดาห์นี้ ซึ่งการปรับประมาณการดังกล่าวจะสะท้อนแนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ในปีนี้ โดยผู้เล่นในตลาดมองว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ไว้ที่ระดับ -0.50% ในการประชุมครั้งนี้ ก่อนที่จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ และทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate แตะระดับ 1.00% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของประธาน ECB ในช่วง Press Conference เพื่อประเมินโอกาสที่ ECB อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50% หรือมากกว่านั้นในการประชุมครั้งถัดไปเพื่อคุมเงินเฟ้อ

ฝั่งเอเชีย - ตลาดประเมินว่าทั้งธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางอินเดีย (RBI) อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายพอสมควรเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ หลังเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้น โดย RBA อาจขึ้นดอกเบี้ยราว 0.40% สู่ระดับ 0.75% ส่วน RBI อาจปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.90% เช่นกัน ส่วนในฝั่งจีน การค้าระหว่างประเทศของจีนอาจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเล็กน้อย หลังทางการจีนทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 โดยเฉพาะในส่วนของท่าเรือขนส่งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม สะท้อนผ่านยอดการส่งออก (Exports) ที่จะโตราว 8%y/y ส่วนยอดนำเข้า (Imports) อาจขยายตัว 2.5%y/y ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวของภาคการส่งออกและการนำเข้าที่ดีขึ้นจากเดือนเมษายนที่จีนอยู่ในภาวะ Lockdown

ฝั่งไทย - เราประเมินว่าเงินเฟ้อ CPI มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 6.9% ในเดือนพฤษภาคม จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาอาหารเป็นหลัก ซึ่งจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง อาจทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจปรับประมาณการเงินเฟ้อในปีนี้สูงขึ้นจากที่เคยประเมินในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากยังไม่เห็นการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าเป็นวงกว้าง อีกทั้งคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานปลางยังคงทรงตัว กนง. จะยังไม่ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อเหมือนกับธนาคารกลางอื่นๆ โดยเรามองว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ อนึ่ง หาก กนง. มีการปรับมุมมองต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจดีขึ้นจากเดิม อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดตีความว่า กนง. ได้เริ่มส่งสัญญาณพร้อมทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในอนาคตได้ (Slightly Hawkish Rate Hold) แต่เราคาดว่าผลกระทบต่อบอนด์ยิลด์ระยะสั้นอาจมีอย่างจำกัด เนื่องจากระดับบอนด์ยิลด์ล่าสุดได้สะท้อนภาพการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ไปมากแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น