xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 34.31 พลิกกลับอ่อนค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.40 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.31 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.24 บาทต่อดอลลาร์ ผู้เล่นในตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังจากที่ล่าสุด หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด (FOMC) Christopher Waller ได้ออกมาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ต่อเนื่องติดต่อกันจนกว่าเฟดจะสามารถคุมเงินเฟ้อได้ ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมามองว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุม 3 ครั้งถัดไป (ข้อมูลจาก CME FedWatch Tool)

ความกังวลโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมัน หลังจากที่ราคาน้ำมันได้พุ่งขึ้นใกล้จุดสูงสุดในปีนี้รับข่าวสหภาพยุโรปมีมติระงับการนำเข้าน้ำมันบางส่วนจากรัสเซีย ก่อนที่จะปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว จากรายงานว่า กลุ่มโอเปกพลัสอาจพิจารณาระงับการมีส่วนร่วมของรัสเซียในข้อตกลงเกี่ยวกับการผลิตน้ำมัน ได้เป็นปัจจัยที่กดดันบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ย่อตัวลง -0.63% เช่นเดียวกันกับฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลง -0.72% จากความกังวลแนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากภาวะเงินเฟ้อสูง หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม พุ่งขึ้นแตะระดับ 8.1% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 7.7% และการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าเริ่มขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าความผันผวนในตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ตามความกังวลปัญหาเงินเฟ้อ อาจหนุนให้เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทอ่อนค่า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยปิดสถานะเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้านแถว 34.40 บาทต่อดอลลาร์ได้

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุแนวต้านไปมาก เนื่องจากระดับดังกล่าวเป็นโซนที่ผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ อีกทั้ง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจไม่ได้ไหลออกรุนแรง เนื่องจากภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงเศรษฐกิจจีนก็เริ่มดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia หากตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยง

ทั้งนี้ เรามองว่ากรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้อาจอยู่ในโซน 34.00-34.40 จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาท อนึ่ง ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่าผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย เช่น ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ได้หนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 2.86% อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนยังคงรอจังหวะยิลด์ปรับตัวขึ้นในการเข้ามาซื้อบอนด์ เพื่อถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งเรามองว่า บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้ความชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ยเฟดผ่าน Dot Plot ใหม่จากการประชุมเดือนมิถุนายน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 101.8 จุด หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังจากที่ตลาดมองว่าเฟดยังมีโอกาสเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับ 128.8 เยนต่อดอลลาร์ และหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงแตะระดับ 1,838 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่ายังมีความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจปรับตัวลดลงต่อทดสอบแนวรับใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งอาจเป็นจุดที่ผู้เล่นต่างรอจังหวะเข้าซื้ออีกรอบ

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMIs) ในเดือนพฤษภาคม โดยตลาดคาดว่าต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ของจีนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ปัญหา Supply Chain ยังคงยืดเยื้อ อาจกดดันให้ภาคการผลิตสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราชะลอลง สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตที่อาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 55 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึงภาวะขยายตัว) นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยเฟดสาขาต่างๆ หรือ Fed Beige Book ในช่วงเช้ามืดของวันพฤหัสฯ เพื่อช่วยประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรายงานอาจยังคงระบุแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ทว่าภาคธุรกิจอาจมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้นจากปัญหาเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ส่วนในฝั่งไทย นักวิเคราะห์มองว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจขยายตัวในอัตราชะลอลงจากผลกระทบของนโยบาย Zero COVID ในจีน รวมถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนพฤษภาคมอาจลดลงสู่ระดับ 51.5 จุด เช่นเดียวกันกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) มีแนวโน้มปรับตัวลดลงสู่ระดับ 47.5 จุด สะท้อนความกังวลของภาคธุรกิจท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบเศรษฐกิจไทยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น