xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยเงินบาทเปิดที่ระดับ 34.09 จับตาท่าทีเฟดขึ้นดอกเบี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.09 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 34.18 บาทต่อดอลลาร์ พร้อมคาดการณ์กรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.20 บาท/ดอลลาร์ และมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.00-34.40 บาท/ดอลลาร์ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความหวังว่าเฟดอาจไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปได้มากอย่างที่ตลาดเคยกังวลไว้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าทดสอบแนวรับโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ หากตลาดเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ทว่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก เนื่องจากผู้นำเข้าต่างรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ใกล้แนวรับดังกล่าว นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจชะลอการไหลเข้าสู่สินทรัพย์ไทย จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราประเมินว่าเงินดอลลาร์อาจถูกกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและท่าทีของเฟดที่อาจไม่ได้เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ หากบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ต่างส่งสัญญาณสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยอาจยิ่งกดดันเงินดอลลาร์ได้ ผ่านการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR)

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งความเสี่ยงสงคราม ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีน และความกังวลเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินเฟด เราแนะนำว่าผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย เช่น Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนี PMI และยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB)
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ - ตลาดมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงฟื้นตัวได้ดีอยู่ แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ ( ISM Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนพฤษภาคมที่อาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 55 จุด และ 56.9 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึงภาวะขยายตัว) นอกจากนี้ ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนพฤษภาคมจะเพิ่มขึ้นราว 3.3 แสนราย ทำให้อัตราการว่างงานปรับลดลงเหลือ 3.5% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยเฟดสาขาต่างๆ หรือ Fed Beige Book เพื่อช่วยประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรายงานอาจยังคงระบุแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ทว่าภาคธุรกิจอาจมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้นจากปัญหาเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเฟด โดยเฉพาะมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงโอกาสที่เฟดอาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ย หลังเฟดพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สองครั้ง

ฝั่งยุโรป - ตลาดคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของยูโรโซนในเดือนพฤษภาคมอาจเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 7.7% จากระดับราคาอาหารและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนอย่างมาก ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจะหนุนโอกาสธนาคารกลางยุโรป (ECB) ทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า ECB อาจทยอยขึ้นดอกเบี้ย จนอัตราดอกเบี้ยไม่ติดลบได้ภายในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB นอกจากนี้ ตลาดจะรอประเมินภาพรวมเศรษฐกิจยุโรป ผ่านยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายน โดยคาดว่ายอดค้าปลีกอาจขยายตัวเล็กน้อย +0.1% จากเดือนก่อนหน้า หลังผู้บริโภคเผชิญแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อสูงมากขึ้น และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะรอติดตามความคืบหน้าของการประชุมสหภาพยุโรป เพื่อหาข้อสรุปมาตรการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย โดยหากสหภาพยุโรปประกาศคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ต้องติดตามต่อว่า รัสเซียจะตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวอย่างไร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าพลังงานได้

ฝั่งเอเชีย - ตลาดประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มคึกคักมากขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ทำให้ยอดค้าปลีกเดือนเมษายนขยายตัวได้ราว 0.9% จากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ภาพการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนพฤษภาคมที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 33.8 จุด ส่วนในฝั่งจีน ตลาดมองว่าทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการยังคงอยู่ที่ระดับ 48 จุด และ 45 จุด ตามลำดับ (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึงภาวะหดตัว) อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตและการบริการของจีนมีแนวโน้มพลิกกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ทางการจีนอาจทยอยผ่อนคลายหรือยุติมาตรการ Lockdown ได้ในเดือนมิถุนายน อีกทั้งทางการจีนและธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น

ฝั่งไทย - ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจขยายตัวในอัตราชะลอลงจากผลกระทบของนโยบาย Zero COVID ในจีน รวมถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนพฤษภาคมอาจลดลงสู่ระดับ 51.5 จุด เช่นเดียวกันกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) ก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลงสู่ระดับ 47.5 จุด สะท้อนความกังวลของภาคธุรกิจท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบเศรษฐกิจไทยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น