นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.16 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น
จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.05-34.25 บาท/ดอลลาร์ โดยบรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง ท่ามกลางความหวังว่าทางการจีนจะสามารถยุติมาตรการ Lockdown ได้ในเดือนมิถุนายน พร้อมกับเดินหน้าใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากแนวโน้มรัฐบาลสหรัฐฯ อาจยกเลิกหรือผ่อนปรนมาตรการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่งต้องติดตามการหารือกันระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ในระยะสั้นนี้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง นอกจากนี้ เงินบาทอาจได้แรงหนุนจากปัจจัยฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านสำคัญ
อย่างไรก็ดี เรามองว่าการแข็งค่าของเงินบาทอาจถูกจำกัดด้วยโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนจากบรรดาผู้นำเข้าซึ่งรอจังหวะการแข็งค่าของเงินบาทอยู่ โดยคาดว่าผู้นำเข้าอาจรอซื้อเงินดอลลาร์ในโซน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้โซนดังกล่าวอาจเป็นแนวรับสำคัญของเงินบาทในช่วงนี้ได้
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่าผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย เช่น ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ทั้งนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถรีบาวนด์กลับขึ้นมาได้บ้าง โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +1.86% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ใหญ่ เช่น Apple +4.0% Microsoft +3.2% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการเงิน หลัง JP Morgan คาดว่ารายได้ในปีนี้อาจบรรลุเป้าหมายได้จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มการเงินยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เรามองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงมีความผันผวนอยู่จนกว่าความไม่แน่นอนของทิศทางดอกเบี้ยเฟด รวมถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยจะคลี่คลายลง
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้น +1.40% หนุนโดยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) เดือนพฤษภาคม ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 93 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ สะท้อนว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปอาจไม่ได้แย่มากอย่างที่ตลาดกำลังกังวลอยู่ นอกจากนี้ บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่าคาด ทำให้นักวิเคราะห์ทยอยปรับประมาณการผลประกอบการดีขึ้น ขณะเดียว ความหวังการยุติมาตรการ Lockdown ของทางการจีน รวมถึงการผ่อนปรนหรือยุติมาตรการภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นยุโรป
ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้นักลงทุนทยอยขายทำกำไรและลดการถือพันธบัตรรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.84% สอดคล้อง ซึ่งเราคงมุมมองว่าบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways และผู้เล่นในตลาดอาจเน้นเทรดในกรอบ (Buy on Dip and Sell on Rally) โดยคาดว่าบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบ 2.75-3.00% ในช่วงนี้ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะมีมุมมองที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้น ซึ่งต้องรอจับตารายงานการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ และ Dot Plot ใหม่ในการประชุมเดือนมิถุนายน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ 102.1 จุด กดดันโดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทำให้ผู้เล่นทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะเดียวกัน ผู้เล่นบางส่วนอยากกระจายความเสี่ยงการถือสินทรัพย์ปลอดภัยไปยังค่าเงินเยนญี่ปุ่น ค่าเงินสวิสฟรังก์ หรือทองคำ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินยูโร (EUR) สู่ระดับ 1.068 ดอลลาร์ต่อยูโร หลังประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งสัญญาณพร้อมทยอยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนอัตราดอกเบี้ยกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ได้ช่วยพยุงให้ราคาทองคำยังสามารถแกว่งตัวเหนือระดับ 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้จะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงแรงขายทำกำไรทองคำก็ตาม
สำหรับวันนี้ ตลาดรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนพฤษภาคม โดยในฝั่งสหรัฐฯ นั้น ตลาดคาดว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจขยายตัวในอัตราชะลอลง จากผลกระทบของปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหา Supply Chain สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพฤษภาคมที่อาจลดลงสู่ระดับ 57.8 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึงภาวะขยายตัว) ในขณะที่ภาคการบริการอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อสูงไม่มากนัก หนุนโดยตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและความสามารถในการชำระหนี้ที่ดี (Debt-Servicing to Income ratio อยู่ในระดับต่ำ น้อยกว่า 10%) โดยดัชนี PMI ภาคการบริการจะอยู่ที่ระดับ 55.3 จุด
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนอาจยังคงเผชิญแรงกดดันจากผลกระทบของสงครามและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงเศรษฐกิจโลก ทำให้ภาคการผลิตอาจขยายตัวในอัตราชะลอลง ชี้โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตที่จะลดลงสู่ระดับ 54.8 จุด จาก 55.5 จุด ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ภาคการบริการอาจได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังคงฟื้นตัวได้ดี สอดคล้องกับรายงาน Google Mobility data ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 57.5 จุด
และในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่าการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนจะกดดันภาคการผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพฤษภาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 52 จุด อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายมาตรการ Lockdown จะช่วยหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศคึกคักมากขึ้น ชี้โดยดัชนี PMI ภาคการบริการ เดือนพฤษภาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51 จุด ทำให้โดยรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ดีอยู่
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ในส่วนการประชุมธนาคารกลาง ตลาดมองว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.50% ทว่า BI อาจส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป หากเศรษฐกิจเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อ รวมถึงการอ่อนค่าของค่าเงินมากขึ้น โดยผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า BI อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน