ผลสำรวจของ BIS พบธนาคารกลางส่วนใหญ่มีความคืบหน้าอย่างมากในโครงการ CBDC โดยถูกกระตุ้นจากความจำเป็นในการเพิ่มเสถียรภาพทางการเงินท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด และการแจ้งเกิดของสเตเบิลคอยน์ และคริปโตฯ หลายสกุล
รายงานที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (6) ระบุว่า 90% ของธนาคารกลาง 81 แห่งในการสำรวจที่จัดทำขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2021 “เกี่ยวข้องกับโครงการสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) ในบางรูปแบบ” โดย 26% กำลังรันโครงการนำร่อง และกว่า 60% อยู่ระหว่างการทดสอบแนวคิดสกุลเงินดิจิทัล
นอกจากนั้น ยังพบว่าความสนใจใน CBDC ที่เพิ่มขึ้นจากราว 83% ในปี 2020 ถูกกระตุ้นจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัลท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ตลอดจนถึงการเติบโตแพร่หลายของสเตเบิลคอยน์และคริปโตฯ สกุลอื่นๆ
BIS ระบุว่า ธนาคารกลาง 2 ใน 3 ทั่วโลกมีแนวโน้มหรืออาจออก retail CBDC (CBDC ภาคประชาชน) ในระยะสั้นหรือระยะกลาง ขณะเดียวกัน ยังมีการดำเนินการเกี่ยวกับ wholesale CBDC (CBDC สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน) มากขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ด้านประสิทธิภาพการชำระเงินข้ามพรมแดน เนื่องจาก CBDC มีความสามารถในการจัดการปัญหาสำคัญ เช่น เวลาทำการที่จำกัดของระบบชำระเงินในปัจจุบัน และห่วงโซ่การทำธุรกรรมที่ซับซ้อน
ธนาคารกลาง 9 ใน 10 แห่งเผยว่า มีส่วนร่วมในการดำเนินการด้าน CBDC บางรูปแบบ โดยมีการพัฒนาหรือการทดสอบ CBDC เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าอยู่ที่ 26% ขณะที่ธนาคารกลาง 6 ใน 10 อยู่ระหว่างทดสอบแนวคิด
รายงานอ้างอิงการแจ้งเกิดของ CBDC หลายสกุล เริ่มต้นจากการเปิดตัวแซนด์ดอลลาร์ของบาฮามาสในเดือนตุลาคม 2020 อีไนราของไนจีเรียในปีต่อมา เช่นเดียวกับการพัฒนาดีแคชของอีสเทิร์นแคริบเบียน และโครงการทดสอบหยวนดิจิทัลของจีน ที่ล่าสุดขยายไปถึงมณฑลเจ้อเจียงและฝูเจี้ยนแล้ว ตลอดจนถึงธนาคารกลางฟิลิปปินส์ที่ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่า จะเริ่มโครงการนำร่อง wholesale CBDC ในชื่อ CBDCPh เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ
จากรายงานของ BIS ธนาคารกลางกว่า 70% ยังสำรวจลู่ทางเกี่ยวกับ CBDC ร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงสำรวจความเป็นไปได้ในการใช้งานร่วมกับระบบการชำระเงินที่มีอยู่
เบิร์กฮาร์ด บัลซ์ สมาชิกคณะกรรมการบริหารบุนเดสแบงก์ หรือธนาคารกลางเยอรมนี กล่าวเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้วว่า ถ้าออกแบบอย่างเหมาะสม CBDC สามารถนำเสนอช่องทางเข้าถึงการชำระเงินระบบดิจิทัลที่ปลอดภัย ฉับไว และมีประสิทธิภาพสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ที่ไม่ชำนาญในระบบดิจิทัลมากนัก และอาจเป็นประโยชน์มากขึ้นถ้า CBDC สามารถสนับสนุนการชำระเงินแบบออฟไลน์ ซึ่งจะทำให้ผู้คนได้ประโยชน์จากเงินดิจิทัลในรูปทางเลือกที่คุ้มค่าแทนเงินสด
ในบรรดาธนาคารกลาง 81 แห่งในการสำรวจซึ่งครอบคลุมประชากรโลก 76% และมี 25 แห่งในจำนวนนี้ที่เป็นประเทศ “เศรษฐกิจก้าวหน้า” เช่น อเมริกาและญี่ปุ่นนั้น ส่วนใหญ่บอกว่า สเตเบิลคอยน์ที่ผูกกับเงินเฟียตมี “ศักยภาพบางประการ” ในฐานะเครื่องมือการชำระเงิน ขณะที่กว่า 60% บอกว่า คริปโตฯ “ไร้สาระหรือไม่มีประโยชน์” สำหรับการชำระเงินภายในประเทศ และราว 40% ตอบแบบเดียวกันสำหรับวัตถุประสงค์ในการชำระเงินข้ามพรมแดน
อนึ่ง ในรายงานอีกฉบับที่ BIS เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนระบุว่า ธนาคารกลางบางแห่งมอง CBDC เป็นปัจจัยกระตุ้นสำหรับนวัตกรรมและการพัฒนา ขณะที่ธนาคารกลางแห่งอื่นๆ คาดหวังให้สกุลเงินดิจิทัลทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเติมเต็มระบบที่มีอยู่เดิม
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคม BIS เสร็จสิ้นโครงการนำร่องที่ร่วมมือกับธนาคารกลางของออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และแอฟริกาใต้ เกี่ยวกับการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย CBDC