xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : IMF หั่นคาดการณ์ ศก.โลกโตแค่ 3.6% เตือน ‘คลื่นแผ่นดินไหว’ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงเกือบ 1% ในวันอังคาร (19 เม.ย.) โดยอ้างผลกระทบจากสงครามที่รัสเซียกระทำต่อยูเครน พร้อมเตือนว่าภาวะเงินเฟ้อกำลังเป็นภัยคุกคามที่ชัดเจนต่อเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ ณ เวลานี้

ในรายงาน World Economic Outlook ฉบับล่าสุด ไอเอ็มเอฟได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกว่าจะเติบโตเพียง 3.6% ทั้งในปี 2022 และ 2023 ลดลง 0.8% และ 0.2% ตามลำดับจากการประเมินเมื่อเดือน ม.ค. สืบเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังภูมิภาคอื่นๆ

ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าสงครามครั้งนี้จะทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และมาตรการคว่ำบาตรที่โลกตะวันตกใช้ปิดกั้นการส่งออกพลังงานของรัสเซียจะส่งผลให้การผลิตทั่วโลกลดลง อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกแตกออกเป็นส่วนย่อยๆ “อย่างถาวร” ตามกลุ่มขั้วทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีมาตรฐานทางเทคโนโลยี ระบบการชำระเงินข้ามพรมแดน และสกุลเงินสำรองที่แตกต่างกัน

“ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นเสมือนคลื่นแผ่นดินไหว (tectonic shift) ที่กระจายเป็นวงกว้างนี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกสูญเสียศักยภาพในระยะยาว เพิ่มความไม่แน่นอน และเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อแนวปฏิบัติแบบอิงกฎเกณฑ์ที่เป็นตัวกำกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมาตลอด 75 ปี” ปิแอร์ โอลิวิเยร์ กูรินชาส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของไอเอ็มเอฟ ระบุ

อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของไอเอ็มเอฟในคราวนี้ก็คือ “จีน” ซึ่งคาดว่าเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากผลของมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดโควิด-19

อุปทานน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และโลหะจากรัสเซียที่ลดลง รวมไปถึงข้าวสาลีและข้าวโพดที่ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในยุโรป ภูมิภาคคอเคซัส เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และภูมิภาคแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา (sub-saharan Africa) อีกทั้งยังส่งผลกระทบไปถึงครัวเรือนที่มีรายได้น้อยทั่วโลก

ไอเอ็มเอฟเตือนว่าภาวะ “ข้าวยากหมากแพง” นี้อาจเป็นชนวนนำไปสู่เหตุความไม่สงบทางสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเศรษฐกิจมีความเปราะบางเป็นพิเศษ

"ปฏิบัติการรุกรานที่รัสเซียกระทำต่อยูเครนก่อความเสียหายอย่างไรบ้างน่ะหรือ? มันคือวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งความสูญเสียต่อชีวิตประชาชน และการถอยหลังครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจทั่วโลก" คริสตาลินา ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการของไอเอ็มเอฟ แถลงต่อคณะกรรมการด้านความมั่นคงทางอาหารเมื่อวันอังคาร (19)

ไอเอ็มเอฟประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของยูเครนจะหายไปราวๆ 35% ในปีนี้ ส่วนจีดีพีรัสเซียจะลดลง 8.5% ขณะที่ กูรินชาส์ เตือนว่าผลจากมาตรการคว่ำบาตรที่มุ่งปิดกั้นการส่งออกพลังงานของรัสเซียอาจทำให้จีดีพีแดนหมีขาวลดลงถึง 17% ในปี 2023

แม้จะเตือนว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้ม “ย่ำแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ” ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ ทว่าไอเอ็มเอฟยังไม่ถึงขั้นคาดการณ์ว่าโลกจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงการเติบโตที่ระดับ 2.5% หรือต่ำกว่านั้น


ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปซึ่งพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมากเป็นพิเศษ ลงมาอยู่ที่ 2.8% ในปีนี้ หรือลดลง 1.1% จากการประเมินรอบที่แล้ว พร้อมเตือนว่าอังกฤษจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและเงินเฟ้อที่รุนแรงกว่าชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ในปีหน้า

ตัวแปรสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือก้าวย่างต่อไปของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย โดยสถาบันด้านเศรษฐกิจ 5 แห่งในเยอรมนีออกมาประเมินว่า เยอรมนีจะสูญเสียผลผลิตทางเศรษฐกิจมากถึง 220,000 ล้านยูโร (ราว 238,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วง 2 ปีข้างหน้า หากถูกตัดขาดอุปทานก๊าซธรรมชาติของรัสเซียในทันที

ในส่วนของสหรัฐอเมริกาแม้จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ความอ่อนแอที่เกิดขึ้นกับประเทศคู่ค้า รวมไปถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแผนยกเลิกมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ก็ทำให้ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตได้เพียง 3.7% ในปี 2022 และ 2.3% ในปี 2023 หรือลดลง 0.3% จากการประเมินเมื่อเดือน ม.ค.

ทางด้านของ “จีน” ก็กำลังเผชิญพายุฝนที่ตั้งเค้าปกคลุม โดยไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะเติบโตเพียง 4.4% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย 5.5% ที่จีนประกาศอย่างเป็นทางการมากพอสมควร

ปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนในเวลานี้มีทั้งมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดตามนโยบายคุม “โควิดเป็นศูนย์” ของพรรคคอมมิวนิสต์ รวมไปถึงผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาภายในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเอง

ธนาคารโกลด์แมนแซคส์เผยคาดการณ์ในสัปดาห์นี้ว่า สหรัฐฯ จะเผชิญอัตราเงินเฟ้อที่ 15% ภายในระยะ 12 เดือนข้างหน้า และ 35% ในช่วง 24 เดือนนับจากนี้ ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์โนมูระของญี่ปุ่นออกมาเตือนในวันจันทร์ (18) ว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นที่เศรษฐกิจจีนจะเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ

อย่างไรก็ตาม สื่อ Global Times ของจีนได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ซึ่งชี้ว่า คาดการณ์ของไอเอ็มเอฟนั้นไม่ได้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งและยืดหยุ่น (resilence) ที่แท้จริงของเศรษฐกิจแดนมังกร

Global Times รายงานว่า ก่อนหน้านี้สถาบันการเงินระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น UBS Group AG, Barclays Plc, Standard Chartered Plc และ Bank of America Corp ต่างพร้อมใจกันปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ลง โดยอยู่ที่ระหว่าง 4.2-5%

แม้เศรษฐกิจจีนจะเติบโตในไตรมาสแรกได้ถึง 4.8% ซึ่งมากกว่าที่มีการประเมินกันไว้ ทว่าก็ยังคงเผชิญแรงต้านอยู่มาก โดยเฉพาะผลพวงจากมาตรการยับยั้งโควิด-19 ที่ระบาดหนักในนครเซี่ยงไฮ้ อีกทั้งยังต้องฟื้นฟูภาคการผลิตให้กลับสู่ภาวะปกติด้วย

Global Times ยอมรับว่า การที่จีนจะบรรลุเป้าหมายดันจีดีพีให้โตถึง 5.5% นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมาก ทว่าสถานการณ์ก็ “ไม่ได้ร้ายแรง” ขนาดที่สื่อตะวันตกพูดกัน และแทนที่จะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างที่โลกตะวันตกอ้าง นโยบาย “คุมโควิดเป็นศูนย์” ของจีนจะช่วยปูทางให้ทุกภาคส่วนสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพภายในปีนี้

สื่อฉบับนี้ย้ำว่า รัฐบาลจีนจำเป็นต้องหาวิธีสร้างสมดุลระหว่างการฟื้นฟูภาคการผลิต และการทำให้สถานการณ์โควิด-19 กลับสู่ภาวะ “ควบคุมได้” อย่างเร็วที่สุดภายในไตรมาส 2 ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนคงความมีเสถียรภาพ และสามารถต้านทานแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น