SCB CIO ประเมินเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงขึ้นอีกเพื่อจัดการเงินเฟ้อ คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 50 bps ต่อครั้ง ในการประชุม 2 ครั้งข้างหน้า และขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 225 bps ในปี 2022 ซึ่งจะทำให้ ECB ต้องขยับขึ้นดอกเบี้ยตามในครึ่งหลังของปี ส่วนความกังวลเรื่อง Inverted yield curve ยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดการเงินโลก และอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ด้านการจัดสรรพอร์ตการลงทุน แนะสะสมหุ้นเวียดนามที่ยังคงมีภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และ Asian REITs รองรับแผนเปิดเมืองที่มีความชัดเจนของไทยและสิงคโปร์ พร้อมให้มีเงินสดหรือสินทรัพย์สภาพคล่อง (Neutral) ในพอร์ตโฟลิโอ ส่วนหุ้นสหรัฐฯ รอจังหวะสะสมเมื่อ Valuation เริ่มน่าสนใจ
นายกำพล อดิเรกสมบัติ Team Head of SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีหน้าที่กำหนดควบคุมดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ย (FOMC) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงขึ้น รวมถึงการเริ่มนโยบายดึงสภาพออกจากระบบด้วยการปล่อยให้พันธบัตรที่ซื้อมาครบอายุ (QT) ในไตรมาส 2 นี้ เพื่อจัดการเงินเฟ้อ SCB CIO ยังคงมุมมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 50 bps ในการประชุมเดือนพฤษภาคม และ มิถุนายน และคาดว่าในอีก 4 การประชุมที่เหลือของปีนี้ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องครั้งละ 25 bps ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงของเฟดส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง และจะกดดันให้ธนาคารกลางอื่นๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรป (ECB ) ต้องเร่งส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย โดยคาดว่า ECB จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (depository rate) 50 bps ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพื่อจัดการเงินเฟ้อ และชะลอการอ่อนค่าของค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับ US dollar
ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ขยับขึ้นเร็วทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นเร่งตัวขึ้นและมีบางช่วงสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ทำให้ตลาดกังวลภาวะที่เรียกว่า inverted yield curve ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ตลาดการเงินโลกให้ความสำคัญในการพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession )โดยเฉพาะในสหรัฐฯ จากสถิติในอดีตชี้ว่า การเกิด inverted yield curve ที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 2 ปี สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ไม่ได้ตามมาด้วย recession ทุกครั้งและในกรณีที่เกิดจะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยถึง 16 เดือนจึงจะเกิดภาวะ recession ในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม inverted yield curve ส่งผลต่อการทำกำไรของธุรกิจภาคการเงินและธนาคาร ซึ่งหากภาคธุรกิจนี้ชะลอการปล่อยสินเชื่อ มีโอกาสจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลง
SCB CIO ได้วิเคราะห์ผลตอบแทนสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในช่วงที่ตลาดกังวล inverted yield curve ในสหรัฐฯ และพบว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบเชิงลบจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้น จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกและใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 11 เดือน S&P500 ถึงจะเข้าสู่จุดสูงสุด โดย 6 เดือนหลังจากเกิด inverted yield curve ดัชนี Russell 1000 บ่งชี้ว่า หุ้นในกลุ่ม growth ให้ผลตอบแทนสูงกว่ากลุ่ม value เล็กน้อย ส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมใน S&P500 พบว่า กลุ่ม Utilities, Financials, Industrials, Healthcare และ Technology ให้ผลตอบแทนได้ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ
นายกำพล กล่าวต่อไปว่า กลยุทธ์การจัดพอร์ตการลงทุนในช่วงนี้ การจัดสรรการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (Asset allocation) มีความสำคัญมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง ในภาวะที่ตลาดมีความผันผวนจากการปรับนโยบาย และความไม่แน่นอนสูงจากความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ SCB CIO ยังคงแนะนำให้มีเงินสด หรือสินทรัพย์สภาพคล่อง (Neutral) ในพอร์ตโฟลิโอ ส่วนมุมมองการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ ด้วยแนวโน้มการเปิดเมืองและเปิดประเทศที่ชัดเจนของไทยและสิงคโปร์ รวมถึง Valuation ที่ยังไม่ตึงตัวเกินไป
พร้อมกันนั้น SCB CIO ได้ปรับมุมมอง Asian REITs เป็น Positive และยังคงมุมมอง Neutral สำหรับหุ้นในกลุ่ม DMs เนื่องจากตลาดมีแนวโน้มผันผวนสูงในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าจากสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงในสหรัฐฯ รวมถึงความไม่แน่นอนจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจยุโรป สำหรับตลาด EMs เราคงมุมมอง Positive ต่อตลาดหุ้นเวียดนาม จากการฟื้นตัวแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2022 และ valuation ที่ยังน่าสนใจ ในขณะที่มีมุมมอง slightly positive ต่อหุ้นไทยจาก valuation ที่เริ่มกลับมาตึงตัว