ศก.ไทยยังเผชิญแรงกดดันรอบด้านโดยเฉพาะผลกระทบวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่อาจดันเงินเฟ้อไทยพุ่งสูงสุดรอบ 10 ปี “กกร.” หั่นคาดการณ์ GDP ปี 65 โตลดลงเหลือ 2.5-4% และขยับกรอบเงินเฟ้อเพิ่มเป็น 3.5-5.5% แต่ยังคงเป้าส่งออกโต 3-5% แนะรัฐเร่งกระตุ้นแรงซื้อไตรมาส 2-3 โดยต่ออายุโครงการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน ยกเลิกมาตรการ Test & GO
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะทำหน้าที่ประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.ประจำ เม.ย.ได้พิจารณาปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2565 เป็นขยายตัว 2.5-4% จากเดิม 2.5-4.5% พร้อมกับปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อเป็น 3.5-5.5% จากเดิม 2-3% ส่วนการส่งออกยังคงเป้าเดิมที่ 3-5% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้านโดยเฉพาะแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มสูงสุดรอบ 10 ปี
“เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงที่สุดในรอบ 10 ปีจากการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 4.9% ซึ่งเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมากจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังคาดว่าจะเติบโตได้จากความมุ่งมั่นของทั้งภาครัฐและเอกชนในการปรับตัวให้สามารถอยูกับโควิด-19 ได้ แบบเป็นปกติมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้โดยเฉพาะจากปัจจัยการส่งออก” นายสุพันธุ์กล่าว
ทั้งนี้ แม้ว่าวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนจะกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวโดยตรงไม่มากนัก แต่ผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอื่นๆ เช่น ปุ๋ย สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะหากไปทำให้ราคาอาหารสดและราคาอาหารสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหากความขัดแย้งยืดเยื้อและยังมีความรุนแรงจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มทะยานสูงขึ้น และทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มลดลง
โดยทั้งปี 2565 ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสอยู่เหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ในกลุ่มเกษตรและกลุ่มโลหะก็สูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งหมดนี้ ได้ทำให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญภาระต้นทุนที่สูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องไปยังระดับราคาสินค้า ซึ่งเริ่มกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน โดย OECD ประเมินว่าวิกฤตรัสเซียและยูเครนจะทำให้เศรษฐกิจโลกโตน้อยลงกว่าเดิมกว่า 1% และทำให้อัตราเงินเฟ้อโลกเพิ่มขึ้น 2.5% จากที่ประเมินไว้ก่อนเกิดวิกฤต
“เศรษฐกิจโลกจะเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในจีนที่ทำให้หลายพื้นที่ต้องล็อกดาวน์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและอาจทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่น้อยลงกว่าเดิม รวมทั้งอาจเกิดภาวะ supply chain disruption ที่รุนแรงขึ้นได้ นอกจากนั้น ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้หลายประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตลดลงเช่นกัน รวมถึงตลาดการเงินเริ่มกังวลความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย” นายสุพันธุ์กล่าว
ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีการยกเลิกมาตรการ Test & GO จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้ในยามที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นๆ มีข้อจำกัด และจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้เกิน 3% นอกจากนี้ กกร.มีความเห็นว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจยังต้องการแรงกระตุ้น ภาครัฐควรพิจารณาต่ออายุโครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2565