ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ปรับลดแนวโน้มคาดการณ์การเติบโตของเอเชียลงไปเล็กน้อย เนื่องจากแรงกดดันด้านราคา “กำลังเพิ่มขึ้น” ภายหลังรัสเซียบุกยูเครน รวมทั้งการระบาดรุนแรงขึ้นอีกของโควิด-19 เพราะสายพันธุ์กลายพันธุ์ “โอมิครอน” ส่งผลคุกคามการกระเตื้องฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมกันนั้นก็เตือนให้ชาติกำลังพัฒนาระวังปัจจัยลบต่างๆ ซึ่งรวมถึงแนวโน้มที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยแรงอันจะส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวน เงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว และค่าเงินอ่อนลงรุนแรง
ในวันพุธ (6 เม.ย.) เอดีบี เปิดเผยรายงานการคาดการณ์อัตราเติบโตของพวกประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียประจำปี 2022 โดยลดเป้าหมายลงอยู่ที่ 5.2% จากที่คาดไว้ 5.3% เมื่อเดือนธันวาคม และเทียบกับอัตราขยายตัว 6.9% ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ปัจจัยลบสำคัญคือการระบาดของโอมิครอน และการสู้รบขัดแย้งในยูเครน
แม้เอดีบีมองแง่ดีว่า เศรษฐกิจเอเชียจะสามารถฟื้นตัวต่อเนื่องภายหลังวิกฤตโควิด-19 ทว่า อัลเบิร์ต ปาร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบีเตือนว่า การฟื้นตัวจะไม่สม่ำเสมอ และอาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงขาลงอย่างรุนแรง ซึ่งได้แก่ ผลกระทบจากสงครามยูเครนและการที่ประเทศต่างๆ ต้องรับมือกับการระบาดโอมิครอน
ธนาคารพัฒนาเอเชียมองว่า ภูมิภาคแถบคอเคซัสและเอเชียกลางจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตยูเครนเนื่องจากมีความสัมพันธ์ด้านการค้าและการเงินใกล้ชิดกับรัสเซีย แต่ประเทศอื่นๆ ที่เหลือในเอเชียจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากราคาสินค้าและพลังงานที่แพงขึ้น
รายงานแนวโน้มการพัฒนาของเอเชียฉบับนี้ระบุว่า ราคาพลังงานจะแพงขึ้นสำหรับประเทศผู้นำเข้าพลังงาน ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นและกดดันอุปสงค์ โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.7% ในปีนี้ จาก 2.5% ในปีที่ผ่านมา ถึงแม้ ปาร์ก ชี้ด้วยว่ายังต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก เนื่องจากเอเชียมีการบริโภคข้าวสาลีน้อยกว่า และมีปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักน้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่า แรงกดดันด้านราคาในเอเชียจะเพิ่มขึ้น และหน่วยงานด้านการเงินต้องเฝ้าระวัง
ปัจจัยลบต่อแนวโน้มการเติบโตของเอเชียยังรวมถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่คุกคามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ จากรายงานล่าสุดที่ออกมาซึ่งบ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานอเมริกามีอัตราเติบโตแข็งแกร่งทำให้มีการคาดการณ์มากขึ้นว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยแรง ซึ่งเอดีบีเตือนว่าจะส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวน พวกประเทศพัฒนาอาจเผชิญปัญหาเงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว และค่าเงินอ่อนตัวรุนแรง
ขณะเดียวกัน การระบาดของโควิดยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเอเชีย โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะพบไวรัสกลายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น นอกจากนั้น การระบาดของโอมิครอนในจีนเวลานี้ยังคุกคามการเติบโตของภูมิภาคและระบบห่วงโซ่อุปทาน
เอดีบีคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของเอเชียตะวันออกจะขยายตัว 4.7% ในปีนี้ และ 4.5% ในปี 2023 เทียบกับ 7.6% เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่จีนจะเติบโต 5.0% ปีนี้ และ 4.8% ในปีหน้า ถึงแม้การส่งออกยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
ด้านพวกประเทศในคอเคซัสและเอเชียกลางจะมีอัตราเติบโตต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.6% จาก 5.6% ในปี 2021 ขณะทางเอเชียใต้ ศรีลังกามีแนวโน้มขยายตัวเพียง 2.4% ถือเป็นประเทศที่มีการเติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาค แม้เอเชียใต้โดยรวมได้รับการคาดหมายว่า จะขยายตัว 7% ในปีนี้ และ 7.4% ปีหน้า โดยที่อินเดียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้นั้น เอดีบีคาดว่าจะเติบโตได้ 7.5% ปีนี้ และ 8.0% ปีหน้า
สำหรับระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น คาดว่าจะเติบโตโดยรวมอยู่ที่ 4.9% ในปีนี้ และ 5.2% ในปีหน้า
เฉพาะประเทศไทย เอบีดีคาดว่าจะขยายตัวได้ 3% ในปีนี้ และเพิ่มเป็น 4.5 %ในปี 2023 เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างช้าๆ ตั้งแต่ 2-3 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว และคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงขาลง ทั้งการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสายพันธุ์ใหม่ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในประเทศไทย
ส่วนอัตราเงินเฟ้อของไทยนั้น เอดีบีคาดว่าจะปรับสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 3.3 % ปีนี้ และ 2.2% ปีหน้า หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อ จะยิ่งทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นด้วย
(ที่มา : เอเอฟพี, MGROnline)