ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) โดยเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุ จากรายงานตามติดเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เดือนเมษายน 2565 เวิลด์แบงก์ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เป็นเติบโต 2.9% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.6% โดยความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศกรณีสงครามยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานที่สูงขึ้น ส่งต่อไปสู่ภาคครัวเรือนทำให้กระทบต่อการบริโภคโดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงเกือบ 50% ของรายได้ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากผลกระทบเดียวกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นตามราคาพลังงาน แต่ยังมองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวที่เกิดจากฝั่งอุปทาน อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นหรือมาตรการของภาครัฐส่งผลต่อการใช้จ่ายได้ต่ำกว่าที่คาด ธนาคารโลกมองกรณีแย่จีดีพีเติบโตที่ 2.6%
ด้านปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยนั้น เป็นกรณีของนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มสูงขึ้นหลังประเทศไทยมีนโยบายผ่อนคลายมากขึ้น โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยในปีนี้ที่ 6.2 ล้านคน แม้จะต่ำกว่าระดับก่อนโควิด แต่ก็อยู่ในทิศทางฟื้นตัวที่ดีขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวชัดเจนขึ้น
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยังมีความเปราะบาง และยังมีความไม่เท่าเทียมกันในการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจ บางธุรกิจฟื้นตัวได้ในระดับก่อนโควิดแล้ว แต่ในบางธุรกิจยังอยู่ในระดับต่ำกว่า ดังนั้น มาตรการการเยียวยาผลกระทบของภาครัฐยังมีความจำเป็นแต่ควรเป็นมาตรการที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นในกลุ่มที่มีความเปราะบางและได้รับผลกระทบสูง ทั้งนี้ แม้ว่าภาครัฐจะยังมีพื้นที่ทางการคลังในการดำเนินนโยบายต่างๆ ได้ แต่พื้นที่ก็แคบลง โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ในราว 60% ของจีดีพีจากเพดานที่ 70% ดังนั้น นอกจากการดำเนินมาตรการด้านการเยียวยาแล้ว ควรมีการปฏิรูปด้านการจัดเก็บรายได้ในอนาคตไปพร้อมๆ กันด้วย เพื่อความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต
สำหรับนโยบายการเงินนั้น ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงยืนระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ ขณะเดียวกัน ไม่ให้กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่ปัจจุบันมีหนี้ครัวอยู่ในระดับที่สูงมากราว 90% ของจีดีพี ซึ่งปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นสิ่งที่ควรได้รับการดูแลและแก้ไขโดยเร็ว เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว