ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 30 มีนาคมที่จะถึงนี้ คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน อย่างไรก็ดี กนง. คงเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้ วิกฤติรัสเซีย-ยูเครนได้ส่งผลให้ราคาพลังงาน รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะยิ่งไปเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อของไทย และไปบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค นอกจากนี้ วิกฤติรัสเซีย-ยูเครนยังมีผลต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวของไทยและการส่งออกของไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าเป็นสำคัญ ดังนั้น ท่ามกลางความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น คาดว่า กนง. จะยังพิจารณาคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในการประชุมที่จะถึงนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดย กนง. คงจะให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลักแม้ว่าจะมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี กนง. คงเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ท่ามกลางแนวโน้มราคาพลังงานที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะข้างหน้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2565 อยู่ที่ 4.5% อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นนั้นเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างตรงจุดเท่าใดนัก อีกทั้งจะยิ่งไปบั่นทอนการบริโภคและการลงทุนไปมากกว่าเดิม ดังนั้น คาดว่า กนง. คงจะยังไม่พิจารณาเลือกใช้นโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกันเงินเฟ้อตามทิศทางธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ขณะที่นโยบายการคลังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเยียวยาผลกระทบของครัวเรือนจากปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงจะสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะข้างหน้า