xs
xsm
sm
md
lg

CPF-GFPT เฮหลังซาอุฯ นำเข้าไก่ไทยรอบ 17 ปี แต่ระยะสั้นต้นทุนยังกดดัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กูรูประเมินหลังซาอุฯ นำเข้าไก่ไทยในรอบ 17 ปี ส่งผลดี CPF-GFPT ในระยะยาว แต่ระยะสั้นปัจจัยเสี่ยงยังมีมาก โดยเฉพาะต้นทุนราคาวัตถุดิบที่ยังกดดันทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และยังมีบราซิลเป็นคู่แข่ง ให้เป้าหมาย CPF ที่ 28 บาท และ GFPT ให้เป้า 14.5-16 บาท

หุ้นกลุ่มส่งออกไก่กลับมาน่าสนใจอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเทศซาอุดีอาระเบียจะอนุญาตให้นำเข้าไก่จากประเทศไทยได้ หลังจากที่ไม่ได้นำเข้ามาเป็นเวลานานกว่า 17 ปี ซึ่งโรงงานไก่ที่ได้รับสิทธิการส่งออกแบ่งเป็น 11 โรงงาน เป็นของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF จำนวน 6 โรงงาน และบริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT อีก 1 โรงงาน

KTBST มองบวก CPF-GFPT ระยะยาว
   
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์จากบริษัท หลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ประเด็นดังกล่าวมีมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่ม Agri & Food Industry โดยกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ CPF (NR) และ GFPT (ถือ/เป้า 14.50 บาท) จากแนวโน้มปริมาณขายที่มากขึ้นจากยอดส่งออกไปซาอุฯ ที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันซาอุฯ มีปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกปีละประมาณ 6 แสนตัน/ปี เป็นอันดับ 5 ของโลก ขณะที่การบริโภคภายในประเทศอยู่ที่ปีละประมาณ 1.5 ล้านตัน/ปี โดยนำเข้าจากบราซิล 70% อีก 30% นำเข้าจากยูเครนและฝรั่งเศส

ทั้งนี้ จากปัญหาสงครามยูเครน และรัสเซียจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ซาอุฯ หันมาสั่งสินค้าจากไทยมากขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกปีละประมาณ 930,000 ตัน โดยมีตลาดหลักเป็นกลุ่มประเทศญี่ปุ่น 48% EU+UK 28% และอื่นๆ 24% ทั้งนี้ มองว่าตลาดซาอุฯ เป็นอีกตลาดที่มี potential สูง เนื่องจากมีการบริโภคสัตว์ปีกเป็นอันดับ 10 ของโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ปีกของไทยในระยะกลาง-ระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นกลุ่มเลี้ยงสัตว์ทั้ง 2 บริษัทยังมีปัจจัยกดดันจากภาวะต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมามากกว่าจากหลายปัจจัย ทั้งปัญหาสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย และประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นผู้ส่งออกกากถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดในโลกประกาศห้ามส่งออกกากถั่วเหลือง โดยอยู่ระหว่างเจรจาเรื่องภาษีกับผู้ขายภายในประเทศ รวมถึงแนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะกากถั่วเหลืองที่จะยืนสูงทั้งปี 65 จากภัยแล้งในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ที่เริ่มกลับมาอีกครั้ง

ประเมินกำไรสุทธิทั้ง 2 บริษัทมี Downside Risk จากต้นทุนวัตถุดิบ

จึงมองว่าแม้ว่ายอดขายของ CPF และ GFPT อาจจะมากกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ก่อนหน้า แต่ประมาณการกำไรสุทธิของทั้ง 2 บริษัท มี downside risk มากกว่า จากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงสงครามที่ยังไม่จบ แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” TVO จากการหยุดการส่งออกกากถั่วเหลืองของอาร์เจนตินา โดยราคากากถั่วเหลืองปัจจุบัน หลังจากประกาศของอาร์เจนตินา อยู่ที่ 525.4 USD/Ton (+5.8%) ขณะที่ราคาถั่วเหลืองอยู่ที่ 1,687 US Cent/Bu (ทรงตัว) แสดงให้เห็นถึงแนวโน้ม crack margin ที่จะดีขึ้นของ TVO ส่วนหุ้นในกลุ่มส่งออกไก่ แนะนำ “ถือ” GFPT

KGI ระบุผลบวกระยะสั้นยังไม่จำกัด แต่แนะนำซื้อ CPF

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แม้ว่าข่าวดังกล่าวจะแสดงถึงโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมไก่ไทย แต่ผลบวกในระยะสั้นน่าจะยังจำกัดอยู่เนื่องจากสถานการณ์การแข่งขันในตลาด ซึ่ง ทาง CPF เปิดเผย ว่ากรณีนี้จะช่วยเปิดตลาดใหม่ให้ผู้ผลิตไก่ไทย แต่คู่แข่งที่สำคัญ (บราซิล) ยังมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในแง่ของต้นทุนอาหารสัตว์ที่ต่ำกว่า เนื่องจากประเทศบราซิลเป็นผู้ผลิตถั่วเหลือง และข้าวโพดรายใหญ่

ในขณะเดียวกัน GFPT ประเมินว่าบริษัทไม่น่าจะได้รับผลบวกโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะซาอุดีอาระเบียนำเข้าเนื้อไก่ดิบเป็นหลัก ในขณะที่สินค้าส่งออกของ GFPT เน้นไปที่ไก่แปรรูป อย่างไรก็ตาม ยังอาจจะมีผลบวกทางอ้อมหากการส่งออกไก่เพิ่มขึ้นทำให้อุปทานสำหรับตลาดในประเทศลดลง ซึ่งในกรณีนี้น่าจะทำให้ราคาไก่ในประเทศขยับสูงขึ้น โดยยังคงคำแนะนำซื้อ CPF เนื่องจากเราคาดว่าราคาเนื้อสัตว์ในประเทศที่ขยับเพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนผลประกอบการของบริษัทในปี 65 ในขณะเดียวกัน CPF ยังน่าจะฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 ในแง่ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ซึ่งน่าจะลดลง และปัญหาขาดแคลนแรงงานที่คลี่คลายลงไปในขณะเดียวกัน ส่วน GFPT แนะนำถือ เนื่องจากเรายังคงเป็นกังวลกับ GPM ของบริษัท

ส่วน GFPT ดูเหมือนจะมีความสามารถจำกัดในการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้ลูกค้า ทั้งนี้ กำลังประเมินผลกระทบจากการที่ต้นทุนอาหารสัตว์สูงเกินคาดอันเป็นผลจากกรณีพิพาทรัสเซีย-ยูเครนต่อราคาเนื้อสัตว์ และ margin ของผู้ผลิตเนื้อสัตว์

FSS มองเบื้องต้น ไทยใช้ไก่สดแช่แข็งนำร่อง

บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มไก่ได้รับประโยชน์ ซาอุฯ อนุญาตให้นำเข้าไก่จากโรงงานไทย 11 โรง โดย CPF ได้ 6 โรง GFPT 1 โรง และ BR 1 โรง (อนุญาตเป็ดด้วย) ที่เหลือเป็น Non-listed co. เป็นข่าวดีเพราะซาอุฯ เป็นตลาดใหม่ของไทย หากซาอุฯ นำเข้าไก่จากยูเครนน้อยลง และหันมานาเข้าจากไทยแทน จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย

อย่างไรก็ตาม ยังต้องใช้เวลา เพราะผู้ประกอบการต้องเข้าไปทำตลาด หาลูกค้าใหม่ในซาอุฯ ช่วงแรกอาจขายเป็นไก่สดแช่แข็งเพราะมีราคาถูกและเป็นที่ต้องการของตลาดซาอุฯ ราคาเป้าหมายของ CPF อยู่ที่ 28 บาท (FSSIA) GFPT อยู่ที่ 16 บาท (FSS)

DBSV ประเมิน CPF-GFPT-TFG รับประโยชน์

บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า การส่งออกไปซาอุฯ ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการเตรียมการ ซึ่งเป็นรายละเอียดเฉพาะตลาด โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นการส่งออกภายในครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะได้ประโยชน์จะเป็นบริษัทที่เน้นการส่งออกไก่สดแช่แข็งเป็นหลัก เช่น สหฟาร์ม เป็นต้น ส่วน CPF, GFPT, TFG คาดว่าจะยังคงเน้นส่งออกไก่แปรรูป เพราะได้ราคาและอัตรากำไรสูงกว่า จึงจะได้อานิสงส์จากการเปิดตลาดซาอุฯ ไม่มากในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี โดยภาพรวมการที่มีตลาดส่งออกเพิ่มช่วยลดอุปทานไก่ในประเทศลง และทำให้ราคาไก่ในประเทศอยู่ในระดับ 40+/- บาท/กก.ได้ และเป็นโอกาสที่ดีในระยะยาว

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมไก่เผชิญความท้าทายมากขึ้นหลังมีสงครามรัสเซียกับยูเครน โดยต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นมาก โดยราคาข้าวโพดปรับขึ้นจาก 10.7 บาทใน Q4/65 เป็น 13 บาท/กก.ในกลางมี.ค.65 และราคากากถั่วเหลืองเพิ่มจาก 18.9 บาท เป็น 19.2 บาท/กก.ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ต้นทุนการผลิตไก่สูงขึ้น (ต้นทุนการเลี้ยงปัจจุบันขึ้นมาเป็น 40 บาท/กก. พอๆ กับราคาไก่ในประเทศแล้ว จากช่วง Q4/64 ที่ประมาณ 36-37 บาท/กก.) และค่าระวางเรือปรับขึ้นต่อ และเรือหายากขึ้น กระทบการส่งมอบสินค้า


กำลังโหลดความคิดเห็น