นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยกล่าวว่า เป็นห่วงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนต่างๆ จากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งไม่ทราบว่า จะจบลงเมื่อไร ล่าสุดรัสเซียประกาศงดส่งออกปุ๋ย ขณะที่ฮังการีและอาเจนตินาจะงดส่งออกธัญพืช โดยคาดว่า ประเทศในทวีปยุโรปอีกหลายประเทศจะงดส่งออกสินค้าเกษตรเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารจากสงครามที่อาจยืดเยื้อซึ่งนโยบายดังกล่าวส่งผลต่อภาคภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในไทยแน่นอน
สำหรับการที่อาร์เจนตินาจะหยุดส่งออกธัญพืชจะทำให้อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ของไทยขาดถั่วเหลืองซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญอีกชนิด นอกเหนือจากที่ขาดข้าวสาลีจากรัสเซียและยูเครน โดยอาร์เจนตินาเป็นผู้ผลิตถั่วเหลืองอันดับ 3 ของโลก ทำให้ขณะนี้วัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งไทยต้องนำเข้าจึงประสบปัญหาทั้งราคาสูงขึ้นและจะขาดแคลนด้วย
ทั้งนี้ เสนอให้รัฐบาลตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยให้มีภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจเพื่อจะได้ป้องกัน แก้ไข และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ที่ผ่านมายังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนของรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นเพราะช็อกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ขณะนี้ต้องตั้งตัวได้แล้วเพื่อกำหนดทิศทางของประเทศ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจซ้ำเติมจากที่เสียหายเพราะโควิด-19 อีก
นายพรศิลป์ ระบุว่า รัฐบาลต้องคำนึงถึงความมั่นคงทางอาหารเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่เริ่มดำเนินมาตรการต่างๆ แล้ว โดยสิ่งที่ควรทำ ได้แก่ การส่งออกอย่างเหมาะสม เนื่องจากหากส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมากจนเกินไปในภาวะที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ อาจทำให้สินค้าเกษตรและอาหารในประเทศไทยมีไม่เพียงพอและราคาแพง ส่วนอีกมาตรการคือ ผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าปศุสัตว์เนื่องจากอาหารสัตว์เป็นต้นทุน 60-70% ของการเลี้ยงสัตว์
ก่อนหน้านี้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์เคยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน และเปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO และAFTA ยกเลิกโควตาภาษีและค่าธรรมเนียมให้สามารถนำเข้ามาได้ในปริมาณขาดแคลนในปี 2565 แต่ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาขายอาหารสัตว์และสินค้าปศุสัตว์เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ต้องแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นต้นทางของสินค้าปศุสัตว์ สมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยแจ้งว่า แบกรับต้นทุนต่อไม่ไหว หลายรายวางแผนปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อลดภาวะขายขาดทุน ซึ่งหากหยุดการผลิตจะส่งผลให้เกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารสัตว์ แล้วกระทบต่อภาคปศุสัตว์โดยรวมในที่สุด