ผลกระทบจากการสู้รบขัดแย้งในยูเครนซึ่งจะมีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงมาก พร้อมกันนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น รวมทั้งต้องรับประกันความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากสถานการณ์เช่นนี้ ประธานเฟดแย้มว่าเล็งขึ้นดอกเบี้ย 0.25% กลางเดือนนี้ ขณะเดียวกัน ทางด้าน “โอเปกพลัส” ยืนกรานคงเพดานการผลิต แม้การบุกยูเครนของรัสเซียดันราคาน้ำมันพุ่งติดจรวดจ่อ 113 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้วก็ตาม
เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวระหว่างไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการบริการทางการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันพุธ (2 มี.ค.) ว่า เฟดพร้อมขึ้นอัตราดอกเบี้ย อ้างอิง เฟด ฟันด์ เรต เพื่อมุ่งสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งเร็วที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ โดยอยู่ที่ 6.1% เวลาเดียวกันสงครามในยูเครนอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เวลานี้ยังยากจะคาดเดา รวมทั้งการแซงก์ชันมอสโกของอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) ได้หนุนราคาน้ำมันทะยาน โดยในวันพุธนั้นวิ่งไปเกือบถึง 113 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
กระนั้น พาวเวล สำทับว่า เฟดจะดำเนินการอย่างรอบคอบ และเขาเชื่อว่า ควรขึ้นดอกเบี้ยเฟด ฟันด์ เรต เพียงแค่ 0.25% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ครั้งต่อไป คือในวันที่ 15-16 ที่จะถึงนี้ แต่หลังจากนั้นอาจใช้มาตรการเชิงรุกมากขึ้นหากอัตราเงินเฟ้อยังสูง เช่น ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25%
“ผลกระทบระยะสั้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการบุกยูเครน สงครามที่ยังดำเนินอยู่ การแซงก์ชัน และเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง แต่เฟดจะจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” พาวเวล แถลง
พวกนักเศรษฐศาสตร์ต่างตั้งข้อสังเกตว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นแรงอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งทะยานเร็วขึ้นไปอีก เวลาเดียวกันมาตรการแซงก์ชันรัสเซีย รวมถึงผลกระทบที่อาจลุกลามบานปลายเกินคาดอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอลง
ทั้งนี้ เฟดลดดอกเบี้ยอ้างอิง เฟด ฟันด์ เรต ลงมาอยู่ที่ระดับ 0% ตอนที่โรคโควิดเริ่มระบาด พร้อมกับอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมากเพื่อป้องกันเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ซึ่งเมื่อประกอบกับโครงการใช้จ่ายขนาดใหญ่ของรัฐบาล ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจอเมริกาในช่วงซึ่งโรคระบาดใหญ่ผ่อนเพลาลง ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วโดยมีอัตราเติบโต 5.7% เมื่อปีที่แล้ว
แต่อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานประสบภาวะติดขัดและมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน กำลังช่วยกันส่งให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปอยู่ที่ 6.1% สูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2% ส่วนใหญ่เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยและรถแพงขึ้น
อย่างไรก็ดี พาวเวลแสดงความเชื่อมั่นว่า เฟดจะสามารถทำให้เศรษฐกิจอเมริกาชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และย้ำว่า เป้าหมายของเฟดคือส่งเสริมการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวเพื่อให้แน่ใจว่า ทุกภาคส่วนในสังคมได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่เติบโต
กระนั้น ตัวแปรสำคัญส่วนหนึ่งที่เฟดไม่อาจควบคุมได้คือ ราคาน้ำมัน และแนวโน้มเฉพาะหน้าไม่สู้สดใส โดยที่พวกชาติผู้ผลิตรายใหญ่ยังแสดงท่าทีไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องช่วยแก้ปัญหา เช่น เพิ่มการผลิตให้สูงขึ้น เพื่อทัดทานไม่ให้ราคาพุ่งลิ่วๆ
ทั้งนี้ เมื่อวันพุธ ในการประชุมประจำเดือนของ “โอเปกพลัส” ซึ่งหมายถึงการหารือของพวกชาติสมาชิกองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน อย่างเช่น ซาอุดีอาระเบีย กับพวกผู้ผลิตรายใหญ่นอกโอเปก อย่างเช่น รัสเซีย ปรากฏว่า มีมติให้เพิ่มกำลังผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ได้เคยตกลงกันก่อนหน้านี้ ถึงแม้จากวิกฤตการณ์ยูเครน ที่นำไปสู่การที่รัสเซียบุกยูเครน และสหรัฐฯ กับโลกตะวันตกแซงก์ชันรัสเซียแบบสุดโหด กำลังทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกวิ่งพรวดๆ โดยราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ในตลาดลอนดอน และน้ำมันดิบดับเบิลยูทีไอในอเมริกาต่างดีดทะลุ 110 ดอลลาร์ ทำสถิติสูงสุดในรอบ 8 ปี และ 9 ปีตามลำดับ
โอเปกพลัส ซึ่งครอบคลุมชาติผู้ผลิตน้ำมันรวม 23 ประเทศ ยังคงตัดสินใจยึดมั่นข้อตกลงเดิมเมื่อปีที่แล้วในการคงการผลิตที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน (บีพีดี) ในเดือนหน้า
เคร็ก เออร์แลม จากโอแอนดา ชี้ว่า การตัดสินใจของโอเปกพลัส เป็นสิ่งที่คาดไว้แล้ว เนื่องจากกลุ่มนี้เชื่อว่าความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราว และมีแนวโน้มใช้ตรรกะนี้กับสถานการณ์การรุกรานยูเครน ซึ่งอาจเป็นเพราะได้รับการยืนยันจากรัสเซีย
อนึ่ง เมื่อวันอังคาร (1) พวกประเทศสมาชิกองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ตกลงปล่อยน้ำมัน 60 ล้านบาร์เรลเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดโลก โดยครึ่งหนึ่งจะมาจากอเมริกา อย่างไรก็ดี ข่าวนี้ดูจะไม่มีผลอะไรนักกับแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาด