โดย อาจหาญ วิจารณ์ทัศน์
วิกฤตสงครามและภัยแล้งในแหล่งปลูกธัญพืชสำคัญของโลกอย่างยูเครนและรัสเซีย เป็นปัจจัยผลักดันต้นทุนการผลิตอาหารมนุษย์ที่สำคัญ ด้วยธัญพืชเหล่านั้นเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นอาหารของมนุษย์ แหล่งพลังงานของคนทุกคน
เป็นที่ทราบกันดีว่า ธัญพืชกลุ่มข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลี มีราคาพุ่งทะยานขึ้นเป็นประวัติการณ์ คือ 14% และ 43% ตามลำดับ กระทบต่อต้นทุนผู้เลี้ยงสัตว์ในวงกว้าง การบริหารจัดการต้นทุนเพื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ จึงเป็นสิ่งท้าทายภาครัฐของไทยอย่างยิ่ง เพราะหากผิดพลาดจนกระทบโรงงานอาหารสัตว์ จะด้วยเหตุผลว่าไม่สามารถหาวัตถุดิบป้อนโรงงานได้ หรือแม้จะพอหาได้แต่ได้ในราคาที่สูงเกินกว่าจะคุ้มทุน เหล่านี้ย่อมกระทบปริมาณอาหารสัตว์ในท้องตลาด เกิดปัญหาขาดแคลน เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เดือดร้อน ในที่สุดมันจะกระทบผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจของชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สงครามไม่เพียงทำให้ธัญพืชมีราคาสูง แต่ราคาพลังงานอย่างน้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ ล้วนทะยานสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ไม่นับความยากลำบากในการขนส่งที่อาจต้องเพิ่มเงื่อนไขระยะเวลาและระยะทางที่ยาวนานขึ้น ซึ่งกลายเป็นส่วนผสมของ “ต้นทุน” ที่รัฐมองข้ามไม่ได้ ส่วนการเลือกวิธีแก้ปัญหาง่ายๆ แต่สะสมปัญหาใหญ่ๆ ให้ต้องแก้ไปเรื่อยๆ เช่น การควบคุมราคาขายปลายทาง โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่สูงเกินกว่าราคาขายด้วยนั้น นับเป็นสิ่งไม่พึงกระทำอย่างยิ่ง
ปลดล็อคจัดหา...เดินหน้าอำนวยความสะดวก
ในเมื่อรัฐไม่สามารถควบคุมราคาธัญพืชในตลาดโลกได้ก็ควรพิจารณาในส่วนที่รัฐทำได้เอง เช่น อันดับแรกคือ “ขจัดอุปสรรค” ในการนำเข้าวัตถุดิบ โดยทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามา ในที่นี้หมายถึงวัตถุดิบนำเข้า เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง ท่ามกลางสถานการณ์สงครามของประเทศผู้ค้าขายธัญพืชสำคัญของโลกในขณะนี้ ย่อมจำเป็นอยู่เองที่รัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินการทุกวิถีทางให้การจัดหาวัตถุดิบนำเข้า สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
มาตรการที่ดูจะเป็นอุปสรรคที่สุดในขณะนี้เห็นจะได้แก่ “มาตรการ 3:1” ที่บังคับให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3 ส่วน จึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน เนื่องจากปัจจุบันไม่มีข้าวโพดเพียงพอกับความต้องการใช้ ทำให้ขวางทางการนำเข้าข้าวสาลีโดยใช่เหตุ ดังเช่นที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังเสนอแนะให้รัฐบาลแก้ปัญหานี้ให้ทันสถานการณ์ โดยระบุว่า “สงครามครั้งนี้กระทบการผลิตอาหารสัตว์ รัฐบาลควรเร่งแก้กติกา "มาตรการ 3:1" หลังราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาพุ่งสูงมาก” สอดคล้องกับ นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกร จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นเกษตรกรกลุ่มพืชไร่ ยังกล่าวผ่านเวทีเสวนาเรื่องสินค้าเกษตรว่า “มาตรการ 3:1 เป็นมาตรการเฉพาะที่ถูกวางขึ้นมาใช้ในช่วงเวลาหนึ่ง และคงไม่สามารถเดินหน้าใช้มาตรการนี้ต่อไปได้ เนื่องจากขัดต่อหลักสากลของการค้าโลก (WTO)”
ขนาดเกษตรกรพืชไร่ยังมองเห็นว่ามาตรการนี้เป็นอุปสรรคทางการค้า และแน่นอนว่ามันทำให้กระบวนการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นไปอย่างยากลำบาก รัฐบาลควรขจัดอุปสรรคนี้ทันทีเพื่อการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและรวดเร็ว
อันดับต่อมาคือการพิจารณาในส่วนผลประโยชน์ของรัฐ ได้แก่ การยกเลิกภาษีนำเข้าเกากถั่วเหลือง 2% ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนแก่การผลิตอาหารสัตว์ได้อีกส่วนหนึ่ง
สุดท้ายคือรัฐควรเปิดให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภายใต้กรอบ WTO, AFTA โดยยกเลิกโควต้า ภาษีและค่าธรรมเนียม อย่างน้อยก็ในปริมาณขาดแคลน ในปี 2565 เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบให้กับผู้ผลิตอาหารสัตว์ เป็นการปรับสมดุลอุปสงค์อุปทาน ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบปรับตัวมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม
หากรัฐลดอุปสรรคเหล่านี้ได้ จะเป็นการช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์ ยืดระยะเวลาเกิดวิกฤตอาหารมนุษย์ออกไปท่ามกลางสงครามที่ยืดเยื้อ เหนืออื่นใดคือการคำนึงถึงข้อต่อในห่วงโซ่การผลิต ให้ทุกๆข้อต่ออยู่รอด ไม่ถูกควบคุมราคาขายโดยรัฐ แต่ให้กลไกตลาดขับเคลื่อนเอง เท่านี้ข้อต่อทุกข้อก็อยู่รอด ผู้บริโภคก็อยู่ได้ ....แล้วทุกคนจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน