การประกาศเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ กำลังเป็นชนวนปลุกให้คนแวดวงตลาดหุ้นลุกฮือต่อต้านทันที เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนและมูลค่าการซื้อขายหุ้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้เปิดประเด็นการเก็บภาษีจากการขายหุ้นในอัตรา 0.10% สำหรับมูลค่าขายหุ้นวงเงินเกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีรายได้ประมาณปีละ 16,000 ล้านบาท
แต่การเก็บภาษีขายหุ้นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เมื่อเกิดกระแสต่อต้าน และแม้แต่กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังไม่แสดงจุดยืนสนับสนุนแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่างแข็งขัน
การเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น หรือแคปปิตอล เกน เคยมีรัฐมนตรีหลายคนพยายามผลักดันมาแล้ว แต่ต้องล้มเลิกไป เพราะถูกกระแสต่อต้านจากคนในตลาดหุ้น
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นคนแรกที่เสนอแนวคิด เก็บภาษีแคปปิตอล เกน เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม ปี 2530
หลังการประกาศ ตลาดหุ้นที่ขึ้นมากว่า 20 วันติดต่อทรุดตัวลงรุนแรง และเกิดเสียงโวยวายจากนักลงทุน เตรียมประท้วงกันวุ่นวาย จน ดร.ศุภชัย ต้องถอย ล้มเลิกความพยายามผลักดันการเก็บภาษีแคปปิตอล เกน
สำหรับการเก็บภาษีขายหุ้นครั้งนี้ แม้กระแสการต่อต้านจะไม่รุนแรงเหมือนอดีต แต่คนในแวดวงตลาดหุ้นยังไม่เห็นใครออกมาสนับสนุนแนวคิดของนายอาคม มีแต่เสียงคัดค้าน
บางคนอ้างว่า ช่วงเวลานี้ยังไม่เหมาะสม
แต่มีคำถามว่า ช่วงเวลาไหนจึงเหมาะสม จะต้องรอเมื่อไหร่ถึงสมควรแก่เวลาที่จะเก็บภาษีจากตลาดหุ้น อีก 10 ปี 20 ปี หรือ 50 ปี
และตลาดหุ้นวันนี้มีวิกฤตอะไรตรงไหนจึงยังไม่ควรเก็บภาษี ในเมื่อซื้อขายหุ้นกันวันละเหยียบๆ แสนล้านบาท
ตั้งแต่ ดร.ศุภชัย ประกาศจะเก็บภาษีแคปปิตอล เกน ผ่านมากว่า 34 ปีแล้ว ยังไม่มีการเก็บภาษีใดในตลาดหุ้นเพิ่มเติม
ถ้าจะเก็บภาษีการขายหุ้นก็สมควรแก่เวลาเหมือนกัน เพียงแต่จะเก็บในอัตราเท่าไหร่จึงเหมาะสมและยอมรับกันได้เท่านั้น
อัตราที่นายอาคม กำหนดขึ้นมานั้นเป็นอัตราที่สูงมาก และสูงกว่าอัตราค่านายหน้าหรือค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นเสียอีก
เพราะโบรกเกอร์หลายเบอร์คิดค่านายหน้าซื้อขายหุ้นเพียง 0.05% หรือมูลค่าซื้อขาย 1 ล้านบาท คิดค่านายหน้าเพียง 500 บาท
โบรกเกอร์บางแห่งคิดค่านายหน้าลูกค้ารายใหญ่หรือลูกค้าต่างประเทศที่ซื้อขายเร็วในอัตราเพียง 0.03% หรือมูลค่าซื้อขาย 1 ล้านบาท เสียค่านายหน้าเพียง 300 บาท
ภาษีการขายหุ้นที่นายอาคม จะเก็บจึงเป็นอัตรามหาโหด และถ้าใช้จริงจะกระทบอย่างรุนแรงต่อบรรยากาศการลงทุน
แต่ถ้าจะเก็บเพียง 0.01% หรือมูลค่าขาย 1 ล้านบาท จะเสียภาษี 100 บาท เชื่อว่า กระแสต่อต้านคงลดลง และจะมีเสียงสนับสนุนมากขึ้น เพราะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นน้อยมาก
มูลค่าซื้อขายหุ้น 11 เดือนแรกปีนี้เฉลี่ยวันละ 95,344 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงมีการขายหุ้นวันละ 95,344 ล้านบาท ถ้าสมมติฐานว่ามีจำนวนนักลงทุนที่ขายหุ้นเกิน 1 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 60,000 ล้านบาท
คำนวณจากมูลค่าการขายหุ้นที่อย่ในข่ายต้องจ่ายภาษี รัฐบาลจะมีรายได้วันละ 6 ล้านบาท และใน 1 ปี ตลาดหุ้นมีวันทำการประมาณ 264 วัน ซึ่งหมายถึงรัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีขายหุ้นปีละประมาณ 1,584 ล้านบาท แม้จะไม่มาก แต่ดีกว่าจะไม่ได้อะไรเสียเลย
ถ้าเก็บภาษีในอัตราที่พอเหมาะพอควร คนในแวดวงตลาดหุ้นน่าจะเปิดใจกว้างยอมรับ
เพราะจะมองแต่ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในตลาดหุ้นฝ่ายเดียวไม่ได้ และแม้นักลงทุนที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น ตัวเลขล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาจะมีจำนวน 3.05 ล้านราย แต่เป็นคนส่วนน้อย เมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ จำนวนประมาณ 70 ล้านคน
ตลาดหุ้นก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทเอกชน และเป็นแหล่งลงทุนของประชาชน ไม่ได้ก่อตั้งมาเพื่อเป็นแหล่งเก็งกำไร หรือมีการปลุกเร้าให้ประชาชนแห่เข้ามาซื้อขายเก็งกำไรหุ้น
มูลค่าการซื้อขายวันละเฉียด 1 แสนล้าน ทุกคนในตลาดหุ้นรู้ดีว่า เป็นมูลค่าซื้อขายที่เกิดจากการเก็งกำไรระยะสั้น ซื้อขายหุ้นวันละหลายรอบ ซึ่งไม่น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่ดี
และการที่มูลค่าซื้อขายหุ้นของตลาดหุ้นไทย เป็นมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในตลาดหุ้นกลุ่มอาเซียน ไม่มีใครควรจะแสดงความภาคภูมิใจ ในเมื่อเบื้องหลังวอลุ่มที่พองโตเกิดจากการเก็งกำไรโดยซื้อขายหุ้นวันละหลายรอบ
จึงไม่ควรนำมูลค่าการซื้อขายหุ้นที่มีลักษณะเป็นภาพลวงตา มาเป็นประเด็นต่อต้านการเก็บภาษีการขายหุ้น โดยเฉพาะหากเก็บในอัตราที่เหมาะสม
แต่อัตรา 0.10% นั้น รัฐมนตรีคลังอาจคิดโหดไปหน่อย