xs
xsm
sm
md
lg

ทิ้งหุ้นหนีตาย “โควิด” พันธุ์ใหม่ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จนแล้วจนรอด ตลาดหุ้นก็ไม่อาจตีฝ่าแนวต้านระดับ 1,650 จุดไปได้ เพราะมีปัจจัยแทรกซ้อนเข้ามาทุกครั้ง โดยรอบนี้ เจอข่าวร้ายชิ้นใหม่ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ทำให้นักลงทุนทั่วโลกตื่นตระหนก และพากันเทขายหุ้นในลักษณะหนีตาย

วันศุกร์ที่ผ่านมา กลายเป็นเหตุการณ์แบล็คฟรายเดย์ โดยตลาดหุ้นทั้งโลกดิ่งลงอย่างรุนแรง เริ่มตั้งแต่ดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้า ตามด้วยตลาดหุ้นย่านเอเชีย ไล่ไปตลาดหุ้นยุโรป และจบลงที่ตลาดหุ้นสหรัฐ โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ทรุดลง 905 จุด

ตลาดหุ้นไทยติดร่างแหไปด้วย นักลงทุนเทขายหุ้นตั้วแต่เปิดการซื้อขาย จนดัชนีหุ้นปักหัวลง ก่อนปิดที่ 1,610.61 จุด ลดลง 37.85 จุด โดยต่างชาติขายสุทธิ 6,091.21 ล้านบาท กองทุนและพอร์ตคโบรกเกอร์ขายรายละกว่า 3 ล้านบาท มีเพียงนักลงทุนรายย่อยที่ช้อนซื้อกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท

ไวรัส “โควิด” สายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบการแพร่ระบาดในแอฟริกา ซึ่งองค์การอนามัยโลกตั้งชื่อ “โอไมครอน” เป็นตัวจุดชนวนสร้างความปั่นป่วนในตลาดหุ้นทั่วโลก และไม่อาจประเมินได้ว่า หุ้นที่ทรุดหนักเมื่อวันศุกร์ ได้ซึมซับข่าวไปหมดหรือยัง

ช่วงโค้งสุดท้ายของตลาดหุ้นไทย ก่อนหน้านี้โบรกเกอร์แทบทุกสำนักทำนายว่า ตลาดหุ้นจะกระเตื้องขึ้น และมีแรงหนุนจากเงินทุนต่างชาติที่จะไหลกลับเข้ามา จนโบรกเกอร์บางสำนัก ปรับประมาณการเป้าหมายดัชนีหุ้นปลายปีนี้ จากระดับ 1,650 จุด เป็น 1,670 จุด

แต่ปรากฎว่า ต่างชาติยังไม่กลับมา ขณะที่ตลาดหุ้นเกิดความผันผวน และดูเหมือนว่า เป้าหมายดัชนีหุ้น 1,650 จุด จะห่างไกลออกไปทุกที โดยในระยะสั้น ไม่มีใครแน่ใจว่า จะหลุด 1,600 จุดหรือไม่

ก่อนหน้านั้น หุ้นแต่ละกลุ่ม ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้น และเริ่มสร้างฐานราคาใหม่ หลายตัวอยู่ระหว่างการทำลายสถิติราคาสูงสุด แต่ข่าว “โควิด” สายพันธุ์ โอไมครอน ทำให้กระดานหุ้นแดงฉาน หุ้นขนาดใหญ่ปักหัวลงหมด หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวก็ถูกถล่ม

เพราะไวรัส “โคไมครอน” ที่พบการติดเชื้อในหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยตรง โดยเฉพาะประเทศไทยที่เพิ่งเปิดรับนักท่องเที่ยว และหวังว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ความหวังกำลังพังทลาย

ถ้าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ลุกลาม ตลาดหุ้นจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ดัชนีหุ้น มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสู่ช่วงขาลงอีกครั้ง และโบรกเกอร์อาจต้องปรับมุมมองการลงทุนในช่วงโค้งสุดท้ายใหม่ เพราะมีตัวแปรใหม่เข้ามากระทบความเชื่อมั่น ซึ่งนักลงทุนควรจะชะลอการตัดสินใจ เพื่อรอดูเหตุการณ์

แต่วันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนรายย่อยกระโจนเข้าไปซื้อหุ้น และเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายใหญ่ทั้ง 3 กลุ่ม ขายหุ้นในราคาที่ดี ขณะที่นักลงทุนรายย่อย ต้องแบกหุ้นต้นทุนสูง เพราะช้อนซื้อแล้ว หุ้นลงม้วนเดียวตั้งแต่เปิดการซื้อขายกระทั่งปิดตลาด

“โควิด” สายพันธุ์โอไมครอนกลายเป็นปัจจัยซ้ำเติมตลาดหุ้นที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นจากวิกฤต และไม่รู้ว่า จะฉุดดัชนี ฯ ให้ลงไปลึกขนาดไหน

โค้งสุดท้ายตลาดหุ้นไทยปีนี้ คงไม่สดใสเสียแล้ว นักลงทุนจึงต้องรักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี และอย่ารีบช้อนหุ้น จนกว่าสถานการณ์จะนิ่ง








กำลังโหลดความคิดเห็น