ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ประเมินสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ไตรมาส 3 ยังคงชะลอตัว เหตุเป็นไตรมาสที่มียอดผู้ติดเชื้อทำสถิติพุ่งสูง กดดันให้ดัชนีราคาบ้านจัดสรร และคอนโดฯ ลดต่ำลง ปัจจัยหลักผู้ประกอบการกังวลสถานการณ์โควิด-19 พร้อมปรับกลยุทธ์ จูงใจการตัดสินใจซื้อ กลุ่มบ้านจัดสรรจัดของแถม เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน ปั๊มน้ำ แท็งก์น้ำ พ่วงลดราคาเงินสด ขณะที่ คอนโดฯ เน้นของแถม ลดค่าใช้จ่าย จูงใจเรื่องการโอนห้องชุด
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายงานดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไตรมาส 3 ปี 2564 พบว่า ค่าดัชนีเท่ากับ 127.2 ลดลงร้อยละ -0.7 โดยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นการลดลงของบ้านจัดสรรต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 แล้ว และเมื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาฯ เทียบกับ ไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) พบว่า ดัชนีราคาบ้านจัดสรรลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ที่ร้อยละ -0.5
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ผลการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ที่ลดลงข้างต้น แสดงให้เห็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 4 ที่มีความรุนแรงมากขึ้นในไตรมาสนี้ เห็นได้ชัดจากตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ประมาณ 15,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมในไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 2,500 คนต่อวัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้มีการฟื้นตัวช้า มีการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เป็นพื้นที่ตลาดที่อยู่อาศัยหลักของประเทศ และเห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก
โดยพบว่าผู้ประกอบการยังคงใช้กลยุทธ์ทางการตลาดด้วยการลดราคาเพื่อกระตุ้นการขายบ้านจัดสรร ควบคู่กับการเริ่มมีโปรโมชันการให้เข้าอยู่ฟรี 1-2 ปีแรก หรือ การปรับเป็นส่วนลดเงินสดในวันโอนกรรม สิทธิ์เพื่อเป็นการเร่งรัดในการตัดสินใจซื้อ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสาเหตุทำให้ราคาบ้านจัดสรรใหม่ลดลง โดยเฉพาะในโซน ลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ และโซนคลองสามวา-มีนบุรี-หนองจอก-ลาดกระบัง ที่ยังคงมีหน่วยเหลือขายอยู่มาก จากรอบการสำรวจที่อยู่อาศัยในครึ่งแรกของปี 2564
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงใช้กลยุทธ์การลดราคาเพื่อกระตุ้นการขายบ้านจัดสรร และระบายสินค้าใน 2 โซนดังกล่าว เป็นการเสนอโปรโมชันในลักษณะของแถม และคาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศจากการระบาดจะมีมากสุดในช่วงไตรมาส 3 ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงต้นไตรมาส 4 จากแนวโน้มการฉีดวัคซีนครบโดสของประชากรที่จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นและการกลับมาดำเนินการของกิจกรรมเศรษฐกิจ
เมื่อจำแนกดัชนีราคาบ้านจัดสรรในไตรมาส 3 ตามพื้นที่ พบว่า กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 126.2 ลดลงร้อยละ -0.7 (YoY) และลดลงร้อยละ -0.4 (QoQ) ส่วน 3 จังหวัดปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 128.1 ลดลงร้อยละ -0.7 (YoY) และลดลงร้อยละ-0.5 (QoQ)
สำหรับรายการส่งเสริมการขายบ้านจัดสรรใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในไตรมาสนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 37.7 กลับมาเป็นของแถม เช่น เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน ปั๊มน้ำ แท็งก์น้ำ รองลงมาร้อยละ 35.9 เป็นส่วนลดเงินสด และร้อยละ 26.4 เป็นส่วนลดค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ และ/หรือฟรีค่าส่วนกลาง
สำหรับดัชนีราคาห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 3 ปี 2564 พบว่า ค่าดัชนีเท่ากับ 151.7 จุด ลดลงร้อยละ -0.9 (YoY) ซึ่งมีค่าดัชนีลดลงต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่ 4 สำหรับการเปลี่ยนแปลงของดัชนีเมื่อเทียบ QoQ พบว่า ในไตรมาสนี้ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ที่ร้อยละ -0.2
จากดัชนีราคาห้องชุดใหม่ได้แสดงให้เห็นว่า ราคาห้องชุดใหม่ยังมีทิศทางที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในระลอกที่ 4 ของไวรัส COVID-19 ที่มีความรุนแรงมากขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2564 มีการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เป็นพื้นที่หลักสำหรับตลาดที่อยู่อาศัยของประเทศ ทำให้กำลังซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนลดลง และยังมีข้อจำกัดในการเดินทางเข้าประเทศของคนต่างชาติ ซึ่งถือว่าเป็นกำลังซื้อที่สำคัญของตลาดห้องชุดในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลที่ต้องหดตัวลงในภาวะสถานการณ์ที่ไม่ปกติในปัจจุบันนี้
จากการสำรวจราคาห้องชุดใหม่ในไตรมาสนี้ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงใช้กลยุทธ์ทางการตลาดด้วยการนำเสนอโปรโมชันในรูปแบบของแถมมากถึงร้อยละ 64.1 ของโครงการสำรวจ โดยเป็นการให้เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งห้องชุดแบบพร้อมเข้าอยู่อาศัยให้ผู้ซื้อ เพื่อเป็นการเร่งรัดการตัดสินใจซื้อ หรือการให้ฟรีค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของผู้ซื้อ หรือการให้ส่วนลดเงิน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาห้องชุดใหม่ลดลง
โดยดัชนีราคาห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในไตรมาส 3 ปี 2564 นี้ พบว่า กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 153.3 จุด ลดลงร้อยละ -0.9 (YoY) และลดลงร้อยละ -0.1 (QoQ) ส่วน 2 จังหวัดปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 144.0 จุด ลดลงร้อยละ -0.8 (YoY) และลดลงร้อยละ -0.4 (QoQ)