"เทอร์ร่าฯ" กางผลสำรวจอสังหาฯ ในภาวะเกิดโควิด-19 ชี้ผู้บริโภคกังวล ขาดความเชื่อมั่น เปลี่ยนแปลงการซื้อที่อยู่อาศัย ตัดสินใจลดงบซื้อบ้าน เน้นโปรโมชัน มองความน่าเชื่อของผู้ประกอบการ เชื่อในอีก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น ด้าน ปธ.สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย แนะทางออก เปิดต่างชาติได้สิทธิซื้อบ้านในไทย คนไทยต้องได้รับประโยชน์ Win Win ทุกฝ่าย ลดแรงต่อต้าน ชงเก็บค่าธรรมเนียมคนต่างชาติซื้ออสังหาฯ ในไทย ดึงตั้งกองทุนฯ ช่วยผู้มีรายได้ คนจนมีบ้าน ขณะที่บิ๊ก "เอพี ไทยแลนด์" ระบุต้องให้ชัดเจน ชี้มีข้อดี และข้อเสีย เหตุเกี่ยวข้องถือครองที่ดิน "คลัง" ห่วงลดค่าโอน-ภาษีอสังหาฯ กระทบท้องถิ่น รายได้ลด
น.ส.สุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า TerraBKK ได้สำรวจ “ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ช่วงโควิด-19” จากแบบสอบถามออนไลน์ จากกลุ่มตัวอย่าง 430 คน อายุ 20 ถึงมากกว่า 60 ปี ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคม 2564 พบว่า ในช่วงที่โควิด-19 มีการแพร่ระบาดหนักส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลและขาดความเชื่อมั่น กระทบต่อพฤติกรรมการซื้ออสังหาฯ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กว่า 66% เห็นว่าโควิด-19 ระลอกนี้มีผลต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ และจำเป็นต้องเลื่อนหรือชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปก่อน 22% เห็นว่าโควิด-19 ไม่มีผลกระทบ โดยยังคงตัดสินใจซื้ออสังหาฯ อยู่ และอีก 12% ระบุว่าโควิด-19 มีผลกระทบ ทำให้เปลี่ยนใจไม่ซื้ออสังหาฯ แล้ว
"การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย โดยพิจารณาปรับลดงบประมาณในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง มองหาโครงการที่จัดโปรโมชันเยอะๆ เน้นเลือกผู้พัฒนาโครงการที่น่าเชื่อและไวใจได้ ขณะที่ดัชนีชี้วัดผู้บริโภคในปี 2564 ผู้บริโภคยังไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ลงมา และมองว่า ใน 12 เดือนหน้าข้างหน้าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น แต่กลับมีความเชื่อมั่นว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น"
น.ส.สุมิตรา กล่าวถึงสถานการณ์ยอดโอนกรรมสิทธิ์ชาวต่างชาติ ในปี 2564 ว่า จากยอดโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในครึ่งแรกของปีนี้ พบว่า เริ่มเห็นสัญญาณบวกในตลาดกลุ่มนี้ เนื่องจากมียอดโอนกว่า 55% ซึ่งเกินครึ่งของเมื่อเทียบกับปี 2563 ทำให้ประเมินในปีนี้จะเห็นกำลังซื้อของชาวต่างชาติเข้ามาซื้อโครงการคอนโดฯ แต่สัดส่วนถือครองชาวต่างชาติในครึ่งแรกของปีนี้เป็น 5-7% ยอดโอนคอนโดฯ เท่านั้น ไม่ได้มีสัดส่วนถึง 20% จนเกิดความกังวล
เก็บภาษีต่างชาติซื้อบ้านในไทย
ดึงเงินตั้งกองทุนฯ ดูแลผู้มีรายได้น้อย
นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ให้มุมมองต่อประเด็นการเปิดให้ชาวต่างชาติมีสิทธิในการซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยว่า การจะทำอะไร ทุกอย่างต้องมองเรื่อง Win Win ถึงจะ OK แต่ถ้ามองในแง่เดียว คือ กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์ อย่างเช่น ผู้ประกอบการ หรือผู้ขาย ขายได้มากจะมีแรงต่อต้านเกิดขึ้น ซึ่งถ้าเรามีโมเดลและมาตรการที่จะให้ชาวต่างชาติซื้ออสังหาฯ ได้ง่ายขึ้น แล้วคนไทยจะได้รับประโยชน์อะไร คนไทยที่ควรได้รับประโยชน์คือ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ถ้าเราสามารถบริหารความสมดุลจะทำให้แรงต่อต้าน และการทำจะน้อย
"ถ้าต่างชาติมาซื้ออสังหาฯ ในไทย และให้มาตรการอะไรก็ตาม ต่างชาติต้องเสียเงิน (สิ่งที่อาจารย์เคยเสนอมาตลอด) สมทบเป็นอัตราพิเศษเติมเข้าไปในกองทุนที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยเหลือคนจน จะทำให้ต่างชาติเข้ามา ไม่ได้มีคนได้ประโยชน์จากคนรายได้สูงเท่านั้น แต่กลับเป็นผลดีกับกลุ่มคนรายได้ต่ำด้วย ถ้าเรามีกองทุนเฮาส์ซิ่งฟันด์ เพื่อช่วยให้กลุ่มระดับล่างสามารถซื้อบ้านได้ในราคาถูกลง สิ่งสำคัญเราต้อง Balanced ให้ได้ถึงจะดี การจะเสนออะไรถ้าไปมองมุมมองด้านเดียว ผู้ที่ได้รับประโยชน์และรายได้สูงทำธุรกิจแรงต่อต้านและคนไม่เห็นด้วยจะเยอะ แต่ถ้าพูดเป็น Win Win ทั้งผู้มีรายได้สูง และรายได้ต่ำด้วย เหมือนในหลายประเทศที่มีการบังคับใช้มาตรการ หากเป็นชาวต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯ จะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นอกเหนือจากคนไทย และนำส่วนรายได้พิเศษจากต่างชาตินำไปสนับสนุนสร้างบ้าน หรือไปช่วยเหลือด้านการเงินให้ผู้มีรายได้น้อย จะทำให้เกิดความสมดุล ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนจะสนับสนุน" นายกิตติ กล่าว
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวสนับสนุนแนวคิดทางสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยส่วนของตนเองมองว่า ถ้าจะเปิดให้ต่างชาติเข้ามามีสิทธิเป็นเจ้าของ หรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว จะเป็นการช่วยดีมานด์ระดับหนึ่งเหมือนกัน ทำให้ผู้ประกอบการมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งแนวคิดตั้งกองทุนฯ นั้นดี แต่ต้องไปดูในรายละเอียด เงินที่จะกันเข้าสู่กองทุนฯ จะเป็นเท่าไหร่ เพื่อให้สามารถซัปพอร์ตกับทุกฝ่าย แต่จริงๆ แล้ว ผมเห็นด้วยกับการเปิดรับต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯ
เอพีมองมีข้อดี-ข้อเสีย ต่างชาติถือครองที่ดิน
นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ "AP" กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียดให้เยอะขึ้น จะเปิดอย่างไร เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนที่สุด เราต้องการชาวต่างชาติเข้ามาช่วยซื้ออสังหาฯ แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นการถือครองที่ดิน ต้องมีความชัดเจนมากๆ ถึงจะตัดสินใจได้ว่าดี ไม่ดี
คลังมองลดค่าโอน-ยืดภาษีอสังหาฯ กระทบท้องถิ่นรายได้ลด
ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวในประเด็นการขยายเพดานเรื่องราคาที่อยู่อาศัย ให้ได้รับสิทธิลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองนั้น เราอยากให้คนได้รับประโยชน์ แต่ในอีกมุมการลดค่าธรรมเนียมการโอน หรือการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะส่งผลให้ท้องถิ่นสูญเสียรายได้ไป ทำให้เม็ดเงินที่จะนำไปพัฒนาพื้นที่น้อยลง